นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขในทุกระดับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เป็นเสาหลักให้แก่องค์กรหรือประเทศชาติในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ ในโลกยุคเศรฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางไซเบอร์อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งแต่ละเหตุการณ์จะสร้างความเสียหาย
และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาขีดความสามารถ รวมถึงความรู้และความเข้าใจด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจด้านนี้ เพื่อให้เป็นกำลังของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและพัฒนาบุคลากรของไทยให้พร้อมรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)ได้ทำโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 ซึ่งมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมจำนวน 4,169 คน คิดเป็น 130% จากเป้าหมายของโครงการ และมีผู้ที่ได้รับสิทธิ์สอบ และสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรสากลในโครงการ แบ่งเป็นEC-Council: ECSS จำนวน 858 คน. CompTIA Security+/ CySA+/ Pentest+/ Linux+/ Cloud+/ Project+ จำนวน 423 คน และ(ISC)2: CISSP จำนวน 45 คน
นอกจากนี้สกมช. มีความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยและบริษัท restrospect labs เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กิจกรรมสร้างเครือข่ายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสานความสัมพันธ์เพื่อความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และกิจกรรมดูงานในองค์กรที่มีให้บริการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำของประเทศ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,578 คน นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ เพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่อไปในอนาคต ทาง สกมช. ได้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งระดับพื้นฐาน และเชี่ยวชาญ พร้อมจัดทำคลิปวีดีโอเพื่อใช้เป็น e-learning สำหรับกลุ่มคนที่สนใจ อาทิ นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ประชาชนทั่วไป และผู้พิการหรือทุพพลภาพ เพื่อเรียนและสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรของ สกมช.
“ความสำเร็จของโครงการฯ สกมช. เห็นถึง ประโยชน์ของหลักสูตรนี้กับประชาขนทุกช่วงวัย จึงได้นำมา พัฒนาเป็น ระบบ e-learning ที่เปิดให้ทุกคนเข้าใช้งาน และจะส่งเสริมให้ผู้พิการ สุภาพสตรี หรือกลุ่ม LGBTQ ได้มีโอกาสทำงานด้านไซเบอร์ให้มากขึ้นในปี 2566 และต่อไป”