จับตา กสทช. ดีล TRUE-DTAC ศาลแพ่งนัดไต่สวนผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูฟ้องแบบกลุ่ม

10 ต.ค. 2565 | 14:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 21:27 น.

จับตา กสทช. กรณีควบกิจการTRUE-DTAC ศาลแพ่งนัดไต่สวนคดีผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูฟ้องแบบกลุ่ม บอร์ด กสทช. 11 ต.ค.นี้ ส่วนคดีอาญา ฟ้องบอร์ด กสชท. ขัด ม.157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลอาญาฯ นัดฟังคำสั่ง 26 ต.ค.นี้

วันนี้ 10 ตุลาคม 2565 นายเพทาย วัฒนศิริ ทนายความของผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูฟ้องบอร์ด กสทช. กรณีควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC  ว่า ตามที่ตนได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยในส่วนของคดีแพ่งที่ฟ้องแบบกลุ่ม (Calss Action) กรณี กสทช.ควบรวมทรู-ดีแทค ล่าช้า ความเสียหายกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ประชาชนฟ้องหน่วยงานรัฐ โดยได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ "บอร์ด กสทช." จำนวน 5 คน ประกอบด้วย

  • นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
  • พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
  • นางพิรงรอง รามสูต
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์
  • นายศุภัช ศุภชลาศัย 
  • รวมถึงนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เลขาธิการสำนักงาน กสทช.
  • และสำนักงาน กสทช.เป็นจำเลยร่วมกันรวม 7 ราย

 

 ในข้อหาละเมิดจงใจปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมาย และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น ล่าสุด ได้รับแจ้งจากศาลแพ่งนัดไต่สวนฯ คดีในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 นี้   ส่วนคดีอาญาฯ ที่ฟ้องบอร์ดปัจจุบัน 5 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ศาลอาญาฯ นัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคดีในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นี้

 

  “ความล่าช้าของ กสทช. ที่ยังไม่พิจารณามีมติรับทราบการรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทคนั้น ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะล่าช้า เพราะประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนว่า ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นต่อเลขาธิการ กสทช.  ซึ่งกรณีนี้ทรูและดีแทคได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช.ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 โดย เลขาธิการ กสทช.ได้เสนอรายงานการรวมธุรกิจฯ ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 พร้อมความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ  ความล่าช้าของ กสทช.ในการมีมติรับทราบการรวมธุรกิจดังกล่าว จึงมีลักษณะจงใจปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้ถือหุ้น บมจ.ทรูฯ ได้รับความเสียหาย หรือละเลยไม่คำนึงถึงประชาชนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย และก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้กว่า 160,000 ล้านบาท” นายเพทาย กล่าวและว่า

ต่อมา เมื่อ 26 กันยายน 2565 ผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูได้ฟ้อง บอร์ด กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157 กรณีพิจารณาควบรมทรู-ดีแทคล่าช้า ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยทรูต้องฟ้องถึง 2 ศาล คือ ความล่าช้าและความยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนเหมือนกัน โดยทางผู้ถือหุ้นรอว่าเมื่อไหร่ กสทช. จะดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถ้าหน่วยงานรัฐก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ผู้เดือดร้อนที่เสียหายก็ย่อมสามารถฟ้องร้องได้ และถ้ายิ่งยืดเยื้อต่อไป ความเสียหายก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย

 

นายเพทาย วัฒนศิริ

 

นายเพทาย กล่าวต่อว่า กรณีการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคนั้น เข้าข่ายการรวมกิจการตามประกาศ กสทช.ปี 2561 ซึ่งออกโดย กสทช.เอง โดยเขียนไว้ชัดเจนไม่ได้มีประกาศฉบับอื่นมาเขียนถึงการรวมกิจการ ตามประกาศฯ ปี 2561 กสทช.มีบทบาทคือรับทราบและสามารถออกเงื่อนไขหรือมาตรการควบคุมได้ นอกจากนี้ กสทช.ก็ได้ใช้เวลาในการพิจารณาตามเหมาะสมไปแล้ว ได้รับผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ รวมถึงผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระ และความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่น่าจะเหตุอะไรให้ต้องล่าช้าออกไปอีก.