“AIS-TRUE-DTAC” ตั้งวอร์รูมมอนิเตอร์รับมือพายุไต้ฝุ่น “โนรู”

29 ก.ย. 2565 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 20:46 น.

“AIS-TRUE - DTAC” ส่งทีมวิศวกรดูแลเครือข่ายสื่อสารพร้อมตั้งวอร์รูม-เตรียมระบบไฟฟ้ารับมือพายุได้ฝุ่น “โนรู”

วันนี้ 29 กันยายน จากกรณีที่พายุไต้ฝุ่น “โนรู” เข้าประเทศไทย ส่งผลให้ฝนตกหนักและตกอย่างต่อเนื่อง ณ ตอนนี้เวลาประมาณ 13.20 น.  เขตดอนเมือง พายุไต้ฝุ่น “โนรู” ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คลองเปรมประชากรระบายน้ำไม่ทันส่งผลให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เขตดอนเมืองบางจุด

 

ล่าสุดค่ายมือถือ 3 ค่าย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  ส่งทีมวิศวกรดูแลเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ในพื้นที่เสี่ยงภัย

 

โดย AIS  ดูแลเครือข่ายสื่อสารทั้งมือถือและเน็ตบ้าน พร้อมเปิด War room เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และ เตรียมการดังนี้

  • ส่งรถสถานีฐานเคลื่อนที่ และกระจายทีมวิศวกร Stand by ในพื้นที่เสี่ยง หากต้องมีการแก้ปัญหาฉุกเฉิน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำผ่าน IoT เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุด
  • เตรียมเครื่องปั่นไฟ และ น้ำมัน ลงพื้นที่สถานีฐานในจุดเสี่ยง เพื่อให้พร้อมในการดูแลสัญญาณในพื้นที่หลักอย่างทันท่วงที
  • ประสานงานกับ ปภ.พื้นที่และส่วนราชการในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมเครือข่ายล่วงหน้า ในบริเวณพื้นที่ศูนย์อพยพ ที่แต่ละจังหวัดจัดไว้ในกรณีจำเป็น ทั้งนี้รวมไปถึงการเตรียมสนับสนุนน้ำดื่ม  เป็นต้น

 

AIS "โนรู"

 

 

ขณะที่ TRUE ส่งรถโมบายล์ชุมสายเคลื่อนที่เร็ว หรือ COW และทีมวิศวกรกระจายลงทุกพื้นที่เสี่ยง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุโนรูทุกจังหวัดทั่วประเทศ และได้ตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังเครือข่ายสื่อสารทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าพายุจะสงบ

 

  • ส่งทีมเข้าตรวจสอบเสาสัญญาณ วางมาตรการป้องกันสถานีชุมสายโดยวางกระสอบทรายในชุมสายที่เคยเกิดน้ำท่วม เตรียมระบบไฟฟ้า น้ำมันสำรองไว้เต็มที่ 100% ให้เพียงพอต่อสถานีฐานสำหรับใช้กรณีเกิดไฟฟ้าดับได้อย่างต่อเนื่องทันท่วงที

 

TRUE

 

ขณะที่  DTAC ส่งทีมงานเน็ตเวิร์กลงพื้นที่น้ำท่วมอย่างรถโมบายล์เคลื่อนที่ เครื่องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉิน และเตรียมน้ำมันสำรองไว้สำหรับกรณีที่มีการตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อความปลอดภัย เตรียมพาหนะรถขับเคลื่อน4 ล้อ และเรือท้องแบน สำหรับการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่สถานีฐานเพื่อดูแลและซ่อมแซมได้ทุกสถานการณ์

 

DTAC

 

DTAC

 

 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำหรับ “การส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” โดยดีแทคได้ส่งข้อความเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมให้กับลูกค้าดีแทคใน 14 จังหวัดเสี่ยงสูง และประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชน จำนวนกว่า 2 ล้านข้อความ จากความร่วมมือที่ได้รับชุดข้อมูลจังหวัดเสี่ยงภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่ประเมินถึงพื้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุน้ำท่วมเพื่อป้องกันภัยล่วงหน้า อาทิ

  • อุบลราชธานี
  • อำนาจเจริญ
  •  ยโสธร
  •  ศรีสะเกษ
  • มุกดาหาร
  • ร้อยเอ็ด
  • สุรินทร์
  • บุรีรัมย์
  • มหาสารคาม
  • นครราชสีมา
  • ชัยภูมิ
  •  ขอนแก่น
  •  ปราจีนบุรี
  •  และนครนายก