“สรรพชัยย์” ยอมรับดีลควบรวม “TRUE-DTAC” ส่งผลต่อ “NT” ทำตลาดยิ่งยากขึ้น

10 ส.ค. 2565 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 19:37 น.
2.1 k

“สรรพชัยย์” ยอมรับดีลควบรวม “TRUE-DTAC” ส่งผลต่อ “NT” ทำตลาดยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้าง NT เพิ่มรายได้ และ ลดค่าใช้จ่าย ยันแผนควบรวมเดินมาถูกทางแล้ว รุกธุรกิจภาครัฐเสริมรายได้ เผยธุรกิจบอร์ดแบนด์เลือดไหลไม่หยุด

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT แถลงข่าวเป็นครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ว่า การควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  จากเดิมการแข่งขันยากอยู่แล้วและเมื่อมีการควบรวมก็ยิ่งยากขึ้นกว่าเดิมขึ้นไป  ส่วนการควบรวมธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไรไม่ขอออกความเห็น เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ กสทช. ควบรวมมีความเห็นอย่างไร

 

สำหรับธุรกิจมือถือของ NT มีสัดส่วนทางการตลาดแค่ 2% เท่านั้นความยาก คือ คลื่นความถี่ของ NT  มีน้อยกว่าโอเปอเรเตอร์รายใหญ่  ดังนั้น NT จะมุ่งเน้นธุรกิจทางด้านภาครัฐ และ ไอโอที เป็นหลัก

“เราได้เสนอทางเลือกให้บอร์ดไปแล้วจะขายหุ้นใน ดีแทค หรือไม่ แต่มติบอร์ดคือให้ถือหุ้นเอาไว้”

ลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน

นายสรรพชัยย์ กล่าวว่า ทั้งสององค์กรมีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้ง ทีโอที และ แคท มีรากฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องลดรายจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในองค์กรที่ได้วางนโยบายไว้จำนวน 26 ข้อ นโยบายทั้ง 26 ข้ออาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

 

 

เดย์ 1.5 ปรับโครงสร้างเริ่ม 1 ต.ค.นี้

นายสรรพชัยย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงสร้างเดย์ 1.5 จะประกาศในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ปรับลดตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการจาก 20 เหลือ 16 คน โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564  ทีผ่านมา และ ยังมีตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการ แผนกหรือฝ่ายต่างๆ ปรับให้ลดลง

 

เพิ่มรายได้

จากกรณที่ภาคเอกชนควบรวมธุรกิจระหว่างกัน NT ต้องมุ่งเน้นลูกค้าภาครัฐมากขึ้นกว่าปกติ มีหลายอย่างสนับสุนภาครัฐ เช่น  โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC)  สำนักงาบประมาณให้งบผูกพันถึงปี 2568

 

คลื่น 700 เมกะเฮริตซ์ รอครม.ไฟเขียว

นายสรรพชัยย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้ประมูลมาได้จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ นั้นจะบริหารคลื่นเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนอีก  5 เมกะเฮิรตซ์ จะให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนของ ครม.เห็นชอบพร้อมเซ็นต์สัญญา สิ้นเดือนธันวาคมเห็นเป็นรูปธรรม กุมภาพันธ์ และ มีนาคม จะได้เห็นการทำธุรกิจแต่อยากดำเนินการเร็วขึ้นกว่าเดิม รวมถึงคลื่นความถี่ 26 GHz ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีกด้วย  ส่วนธุรกิจมือถือจะรวมกันใช้แบรนด์คำว่า “NT” เท่านั้น

“ธุรกิจที่น่าหนักใจ คือ ธุรกิจบอร์ดแบนด์อินเตอร์เน็ต ที่เลือดไหลไม่หยุดเป็นธุรกิจที่เรากังวลใจอยู่ในขณะนี้”

 

ปี 66 ตั้งเป้าเออร์ลี่รีไทร์ 6 พันคน

สำหรับแผนเออร์ลี่รีไทร์ ระยะเวลา 3 ปี ตั้งเป้าหมายเอร์ลี่รีไทร์ 6 พันคน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านบาท.