“ชัยวุฒิ” ชี้มาตรการ Capital Gain Tax ดึงดูดลงทุน หนุนสตาร์ทอัพโต

20 มิ.ย. 2565 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 21:05 น.

“ชัยวุฒิ” ชี้มาตรการยกเว้น Capital Gain Tax ช่วยดึงดูดการลงทุน ทำให้สตาร์ทอัพระดมทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจไทย เป็นกุญแจสำคัญเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

วันนี้ (20 มิถุนายน 2565) ที่กระทรวงดิจิทัลฯ  ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gain Tax เป็นเวลา 10 ปีแก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือนตามที่ กระทรวงการคลัง โดย กรมสรรพากร เสนอ ซึ่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๕๐) พศ. ๒๕๖๕ (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น

  “ชัยวุฒิ” ชี้มาตรการ Capital Gain Tax ดึงดูดลงทุน หนุนสตาร์ทอัพโต

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ที่ต้องการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครือข่ายและระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย พร้อมก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งถือเป็นแผนงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax โดยความร่วมมือระหว่าง กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ ดีป้า จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) สนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสตาร์ทอัพรายใหม่ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่าสูงต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

 

 

ทั้งนี้สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประเมินว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยมากกว่า 3.2 แสนล้านบาทภายในปี 2569 เกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 4 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7.9 แสนล้านบาท