กรมขนส่งทางราง เผยโฉม“สะพานรถไฟคานขึง"แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย

05 ธ.ค. 2564 | 12:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2564 | 19:53 น.

กรมขนส่งทางราง เผยโฉม“สะพานรถไฟคานขึงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ที่ไหน ไฮไลต์คืออะไร เช็คได้ที่นี่

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เผยโฉม“สะพานรถไฟคานขึงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย (จังหวัดราชบุรี)” สุดยอดโครงการระบบรางของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ที่เกิดจากความมุ่งมั่นพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ในการสรรค์สร้างระบบรางให้สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้แก่ประชาชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม – ชุมพร (ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล) มีจุดไฮไลต์สำคัญแห่งหนึ่ง คือ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง  โดยเป็นสะพานรถไฟชนิดคานขึง (Extradosed Railway Bridge) แห่งแรกที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ไม่มีเสากลางแม่น้ำ เป็นทางเดี่ยว ความยาวสะพานรวม 340 เมตร ช่วงสะพานขึงที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตร สูง 16 เมตร 

 

กรมขนส่งทางราง เผยโฉม“สะพานรถไฟคานขึง\"แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย

นับจากสันรางถึงยอดเสารั้งสายเคเบิล ซึ่งสะพานดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ อ.เมือง จ.ราชบุรี คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ และเนื่องจากมีระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ในลําน้ำ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างสะพานแบบเดิมได้ เหตุเพราะจะต้องมีการเคลื่อนย้ายระเบิดออกทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงสูง การสร้างสะพานรูปแบบใหม่จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเก็บกู้วัตถุระเบิด ทําให้ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ราชบุรี ด้วย