“ภาวุธ’ตั้งกองทุน 500 ล้าน ปั้นสตาร์ทอัพไทยลุยอาเซียน

10 พ.ย. 2564 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 18:08 น.
1.2 k

กูรูอีคอมเมิร์ซ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” เล็งตั้งกองทุน 500 ล้านบาท ลงทุนสตาร์ทอัพ “ฟินเทค- เฮลท์เทค-AI-บิ๊กดาต้า” ภูมิภาค ระบุจุดแข็งมีทีมเข้าไปช่วยวางโครงสร้าง-ปรึกษาธุรกิจ คาดสามารถลงทุนได้ต้นปี 65 ตั้งเป้าหนุนเทคคอมพานีไทย 40-50 ราย ผงาดตลาดอาเซียนภายใน 6-7 ปี

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินทุนส่วนตัวเข้าไปลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ 40 ราย อาทิ BUILK Creden, Wisesight, Tellscore, Shippop โดยเข้าไปลงทุนรายละ 1-2 ล้านบาท ขณะนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุนเริ่มออกดอกออกผล โดยสร้างผลตอบแทนจากการ Exit ส่วนหนึ่งจากการลงทุน เฉลี่ยประมาณ 100%

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com

ทั้ง WISESIGHT (ไวซ์ไซท์) ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล ที่เพิ่งปิดดีลระดมทุน Series B จาก 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ กรุงศรี ฟินโนเวต (Krungsri Finnovate) และเทค แมทริกซ์ (TechMatrix) ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 230 ล้านบาท (อัตรา 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) หรือ บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด (BUILK) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการบริหารธุรกิจก่อสร้างและการซื้อขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ ที่ได้รับเงินลงทุนรอบซีรีส์ B จากบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัดบริษัทเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

รายล่าสุด คือ SKOOTAR สตาร์ทอัพไทยผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สําหรับการส่งเอกสาร/พัสดุ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จํากัด (มหาชน) หรือ TTA โดยมีนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้าถือหุ้นสัดส่วน 60% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท เพื่อขยายศักยภาพในการดําเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งให้ครอบคลุมธุรกิจการให้บริการขนส่งผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งช่วยต่อยอดและส่งเสริมธุรกิจ ของบริษัทในกลุ่ม TTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้มีความครบวงจรมากขึ้น

 

จากประสบการณ์และความสำเร็จในการลงทุนสตาร์ทอัพ จึงมีแนวคิดนำเงินทุนส่วนตัวที่ได้จากการลงทุน และระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพ ขึ้นมา เบื้องต้นกองทุนดังกล่าวมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีศักยภาพในการลงทุนในสตาร์ทอัพตั้งแต่ Seed Fund ถึง ซีรีส์ A วงเงิน 3-10 ล้านบาท ซึ่งสตาร์ทอัพที่สนใจเข้าไปลงทุน คือ กลุ่มฟินเทค เฮลท์เทค ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI บิ๊กดาต้า ทั้งในไทย และภูมิภาคอาเซียน

โดยจุดเด่นของกองทุนสตาร์ทอัพที่มีแผนจัดตั้งขึ้นมา คือ ไม่ได้เข้าลงทุนแต่เงินแล้วทิ้งให้สตาร์ทอัพบริหารธุรกิจเอง แต่จะมีทีมเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และเข้าไปช่วยวางแผนการทำงาน เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

 

นอกจากนี้ยังมีแผนเข้าไปตั้งสำนักงานในภูมิภาค เริ่มต้นจากประเทศเป้าหมาย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซียที่มีพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมผลักดันสตาร์ทอัพที่เข้าไปลงทุนไปยังตลาดภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยคาดว่าจะช่วยสตาร์ทอัพขยายตลาดไปยังภูมิภาคได้ 40-50 ราย ภายในระยะเวลา 6-7 ปี