“รัฐ-เอกชน”สานเสียงถึงเวลาต้องมีแพลตฟอร์มคนไทย

15 ต.ค. 2564 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 01:29 น.

“รัฐ-เอกชน” หนุนแนวคิดสร้างแพลตฟอร์มคนไทย ลดพึ่งพาข้ามชาติ รับพฤติกรรมคนไทยเข้าสู่ชีวิตดิจิทัล แนะรัฐ ส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็มดิจิทัลคอนเท้นต์

นายปฐม  อินทโรดม  อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทยหรือกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สัมมนาออนไลน์ Virtual Forum “Thailand Platform ฝันกลางวัน หรือ ทำได้จริง” จัดโดย “สำนักข่าวสปริงค์นิวส์”ว่าวิถีเด็กรุ่นใหม่เสพสื่อ เน็ตฟลิกซ์ ยูทูปมิวสิค  แม้จ่ายแต่ละครั้งไม่เยอะ แต่รวมๆกัน เป็นพัน  ไม่สนใจลงทุนบ้าน รถ พึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้ เด็กใช้ชีวิตบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่ใช้เงิน  แต่หาเงินด้วย  ซึ่งมองว่าท้ายสุดเกิดโลกคู่ขนาด เช้าทำงาน ขณะที่กลางคืนใช้ชีวิตบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม   เหล่านี้ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลมหาศาล โดยการแพร่ระบายของโควิด เปลี่ยนแปลงพฤติกรรรมผู้คนทั่วโลกมหาศาล ซึ่งปกติเกิดเทคโนโลยีใหม่มากว่าคนจะใช้แพร่หลาย 5 ปี  แต่โควิดมาเปลี่ยนปีเดียว วันนี้หลายประเทศพึ่งพารายได้ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น  เช่น   เน็ตฟลิกซ์ สร้างรายได้จากการถ่ายทำคอนเท้นต์หนัง   ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาแซงหน้าธุรกิจในโลกเก่า

“รัฐ-เอกชน”สานเสียงถึงเวลาต้องมีแพลตฟอร์มคนไทย

นายปฐม กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามคนไทยยังใช้งานแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเป็นหลัก   โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มของคนไทย  โดยไทยมีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่แข็งแรง ผลิตคอนเทนต์คุณภาพที่ไปเติบโตในหลายประเทศ โมเดลของการสร้าง แพลตฟอร์มคนไทยนั้นรัฐควรเข้ามาสนับสนุนเอกชน ต้องไม่ลงไปแข่งขันกับเอกชน ภาครัฐควรเล่นบทเป็น Facilitator หรือ จะเป็น Regulator  โดยรัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนสร้างให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ หรือระบบนิเวศ ถ้าไม่เข้ามาสนับสนุนโอกาสเกิดเป็นศูนย์

นายปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับภาพยนตร์ GDH มองว่า คอนเทนต์แบบโลคัล หรือ คอนเทนต์ภาพยนตร์แบบไทยๆ เป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมเมื่อนำไปเผยแพร่ผ่าน แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส ในมุมของผู้ผลิตคอนเทนต์ ถือว่าเป็นโอกาสเผยแพร่ผลงานมากขึ้น "ไม่จำเป็นต้องหวังวินโดว์เดียวอีกต่อไปแล้ว" เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง คนเสพคอนเทนต์ บนหลากหลายแพลตฟอร์ม

นายปวีณ มองว่า "คอนเทนต์" จะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของไทยแลนด์ แพลตฟอร์ม เพราะจะเป็นแม่เหล็กที่ดึงคนให้มาอยู่ในแพลตฟอร์ม มากกว่าค่าสมาชิก คอนเทนต์ต้องที่จะต้องมาลงในไทยแลนด์แพลตฟอร์ม ต้องมีคุณภาพและผลิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อดึงดูดให้ผู้คนอยู่กับแพลตฟอร์ม ดังนั้นหากรัฐจะสนับสนุนต้องสนับสนุนให้ตรงจุด ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์พร้อมจะผลิตคอนเทนต์ป้อนอย่างแน่นอน

ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และ ธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า มีเม็ดเงินโฆษณาพร้อมสนับสนุน คอนเทนต์ ที่รวบรวมไว้บนแพลตฟอร์ม ประเทศไทย หรือ แพลตฟอร์มกลาง เพราะที่ผ่านมามีเม็ดเงินโฆษณา ที่กระจายอยู่ในแพลตฟอร์ม OTT ราว 2 พันล้านบาท แต่ยังอยู่แบบกระจัดกระจาย หากเทียบกับประเทศจีน ซึ่งสร้าง Ecosystem หรือระบบนิเวศน์ทางธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้มีแพลตฟอร์มกลางที่แข็งแกร่ง

 

 

ดร.ชัยชนะ  มิตรพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)  กล่าวว่า เป็นความหวังของเอ็ตด้า ที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มของคนไทยเกิดขึ้น  โดยวันนี้เราพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ  ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่นทางด้านเศรษฐกิจวันนี้เราสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศ  ขณะที่ปัญหาสังคมนั้นเกิดไซเบอร์บูลลี่  ปัญหาการฉ้อโกง หลอกลวงทางออนไลน์   โดยวันนี้ มีเรื่องร้องเรียนผ่าน OOC 1222 ประมาณ 40,000 เรื่อง  50%  เป็นการร้องเรียนปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้มองว่าหากมีแพลตฟอร์มคนไทยเองก็จะช่วยให้สามารถดูแลได้ง่ายขึ้น

ตอนนี้เราตกเป็นทาสทางเทคโนโลยี ผู้ผลิตเทคโนโลยีผลิตอะไรออกมาเราก็ใช้  แต่จะเลือกใช้ ซึ่งเป็นความหวังของเอ็ตด้าทำอย่างไรที่เราจะเลิกทาส ส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มคนไทย  และสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันการแข่งขัน  ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือภาครัฐ และเอกชน   โดยเอกชนจะต้องรวบรวมปัญหาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและ สังคม   ที่เกิดจากแพลตฟอร์มต่างประเทศมีอะไรบ้าง ผู้ผลิตสื่อ โทรทัศน์ หรือ  คนไทยในอุตสาหกรรมได้รับผลระทบอะไรจากการให้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อให้ภาครัฐ นำไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายส่งเสริม หรือสนับสนุน

ล่าสุด เอ็ตด้าได้ยก (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.ขึ้นมาเพื่อกำกับแพลตฟอร์มดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งใน และต่างประเทศ ให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน สร้างให้เกิดความเท่าเทียมการแข่งขัน  ซึ่งภาครัฐจาก พรฎ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต้องมาแจ้งเอ็ตด้า ว่าให้บริการอะไร มีปัญหาสามารถติดต่อได้ที่ไหน มีนโยบาย เงื่อนไขการให้บริการอย่างไร ขนาดธุรกิจเท่าไร  เพื่อให้เอ็ตด้า สามารถนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงได้  หากอนาคตมีความเสี่ยงเกิดขึ้น เอ็ดต้าจะต้องมีนโยบาย หรือมาตรการอะไรออกมาควบคุมดูแล

ผอ. ETDA ยืนยันด้วยว่า ภาครัฐกำลังขับเคลื่อน ในหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล และ ผลักดันให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นของตัวเอง โดยบทบาทที่ภาครัฐทำ คือ ชวนคนที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน และ ขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการระดมสมอง ระดมทุน เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มประเทศไทย

ด้าน ดร.สุพจน์  เธียรวุฒิปัญญา  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)   กล่าวว่า DGA  กำลังเร่งผลักดันให้เกิดบัตรประชาชนดิจิทัล  ล่าสุดได้ผลักดันแพลตฟอร์มกลาง“ทางรัฐ” ซึ่งซูเปอร์แอพภาครัฐ  เปิดให้หน่วยงานรัฐ เชื่อมต่อบริการดิจิทัลเข้ามายังแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อให้บริการประชาชน  และเปิดให้เอกชนนำข้อมูลเปิดภาครัฐเข้ามาต่อยอดการให้บริการ    นอกจากนี้ยังเร่งการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น  นอกจากนี้ยังเร่งการบรูณาการข้อมูลภาครัฐเข้าด้วยกัน  และเปิดโอเพ่นดาต้าให้เอกชนเอาไปใช้ต่อยอดธุรกิจ รวมถึงกำหนดมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ  ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล  เบื้องต้นกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐาน 6 ประเภท คือเกษตร การศึกษา สาธารณสุข เอสเอ็มอี สิทธิสวัสดิการประชาชน ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการส่งเอกสารหน่วยงานรัฐของประชาชนและเอกชน  ขณะที่ภาครัฐ  เห็นข้อมูลเดียวกัน สามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผน  หรือกำหนดนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุน