จับตาอนาคต ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ไทย จะกลับมาสดใสหรือไม่?

01 ก.ย. 2564 | 13:07 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 21:30 น.
643

ผลกระทบ โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจดิ่งลงเหว-สะเทือน Digital Transformation แนะภาครัฐปรับเพื่อรองรับ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หลังโควิดทำมนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและเร็วขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุวัศ สาคริก ผู้อำนวยการหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาในยุคดิจิทัล (DAD) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ในปัจจุบัน ผู้คนอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ต IoT หรือ Internet of Things เข้ามาดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยี AI IoT Blockchain Cloud Computing เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และในอนาคตจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

 

เศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มเห็นภาพชัดๆในปี 2015 ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป (Professor Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ The World Economic Forum (WEF) ได้ประกาศว่า โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 แล้ว  เราก็จะเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing การใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ AI Chatbot Big Data Cloud Computing IoT ชัดเจนมาก โดยเฉพาะภาพของการพัฒนาประเทศทั้งโลกตะวันตก และโลกตะวันออก ทั้งในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในอาเซียนเอง

จับตาอนาคต ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ไทย จะกลับมาสดใสหรือไม่?

 

ความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของภาคธุรกิจไทย

 

สำหรับภาคเอกชนไทยในธุรกิจกลางจนถึงใหญ่ มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสู่ Digital Transformation ในการทำงานจำนวนมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ประหยัดเวลา และยังส่งผลให้ผลประกอบการหรือกำไรเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันเกิด Platform Economy ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การส่งอาหาร การชอปปิ้งออนไลน์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิด Influencer ในโลกโซเชียล ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างยอดขาย การขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Content Creator อีกทั้งยังเกิดภาคส่วนใหม่ที่เรียกว่า Creator Economy ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับ Influencer ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทุกอย่างสามารถตีเป็นตัวเงินได้หมด

 

เมื่อพูดถึงธุรกิจขนาดเล็ก รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุวัศ กล่าวว่า ในธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นขนาดไมโคร หรือที่เราเรียกกันว่า MSMEs อาจจะยังเป็นความท้าทายของประเทศไทยอยู่ เพราะถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้ว กลุ่มนี้อาจจะยังไม่มีการปรับตัวได้ดีเท่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ ความพร้อม หรือทักษะบุคลากรในกลุ่มนี้ยังไม่เท่ากลุ่มอื่น ถือเป็นความท้าทายอยู่มาก ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยแนะนำ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มนี้มากขึ้น

จับตาอนาคต ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ไทย จะกลับมาสดใสหรือไม่?

สถานการณ์โควิด-19 กับ เศรษฐกิจดิจิทัล

สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั้งโลก ไม่ว่าจะในอเมริกา ยุโรป เอเชีย ทุกประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดในระดับสูง ทำให้ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนในแต่ละประเทศ

 

ในปีที่แล้วบางประเทศอาจได้รับผลกระทบน้อย เช่น เวียดนาม แต่ปีนี้ก็สาหัสทีเดียวจากโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทั้งโลกได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตามเรื่องการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจมันต้องถูกกระตุ้น เมื่อโควิดทำให้เศรษฐกิจซบเซา ถดถอย ภาครัฐออกมาตรการมาส่วนหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กันทั่วโลก นั่นคือ เรื่องการล็อกดาวน์ เรื่องการให้เงินอุดหนุน การให้เงินเยียวยา การออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรายละเอียดอาจจะต่างกันไปบ้าง

มาตรการล็อกดาวน์ การรักษาระยะห่างทางสังคม ถือเป็นจุดหักเหสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ยาก เศรษฐกิจถดถอย แต่สิ่งที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจยังไปต่อได้ในยุคนี้ก็คือ เทคโนโลยี ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เราสามารถใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ออนไลน์ชอปปิ้ง อีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ เรายังเริ่มคุ้นชินกับคำว่า Work From Home หรือ การทำงานจากที่บ้าน การเรียนออนไลน์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราใช้เทคโนโลยีมาช่วยประคับประคองในช่วงที่กำลังเกิดการระบาดของโควิด-19

 

“โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้คนรู้จักปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและเร็วขึ้น ใครที่เคยปฏิเสธและกลัว ไม่กล้าที่จะปรับ ก็ถึงเวลาที่จำเป็นต้องลอง ต้องใช้ แล้วเมื่อได้ลองใช้แล้วก็จะพบว่า ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และคุ้นชินไปเองในที่สุด ถือเป็นความปกติใหม่ หรือ New Normal เมื่อวันใดวันหนึ่งที่โควิดหมดลง ก็คาดว่าพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะคงอยู่ต่อไป”

 

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดอีคอมเมิร์ซ

รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุวัศ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากทั่วโลก และเมื่อเจอโควิด-19 เข้าไป ออนไลน์แพลตฟอร์มที่ใช้ในการชอปปิ้งเติบโตมากจนกระทั่งขนส่งแทบจะไม่ทัน เพราะประชาชนไม่สามารถเดินไปชอปปิ้งเองได้ ต้องชอปปิ้งออนไลน์ ซึ่งแต่ละที่ก็มีโปรโมชั่นที่นำเสนอออกมาดึงดูดใจมากๆ อีคอมเมิร์ซ เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักสำคัญทางเศรษฐศาสตร์และในเชิงเศรษฐกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน ควรให้ความสนใจ และพัฒนาอีคอมเมิร์ซในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้บริการ ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเองด้วย สร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค หลายคนวันนี้ยังไม่กล้าใช้บริการเพราะยังขาดเรื่องความเชื่อมั่น ตรงนี้ก็ต้องพยายามบริหารจัดการจากภาครัฐให้ดี

 

“ในหลายประเทศ อีคอมเมิร์ซ ถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือ จีน ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนเติบโตสูงมาก ยักษ์ใหญ่หลายเจ้า Upscale ไปถึงขั้นระดับโลกแล้วก็ว่าได้ ซึ่งบริบทของจีนมีความเฉพาะเจาะจงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรที่เยอะ ผู้บริโภคเยอะ โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้นมาส่งเสริมตลาดอีคอมเมิร์ซในระยะหลังนี้ทำให้จีนได้เปรียบ นอกจากนี้จีนยังเป็นฐานการผลิตสินค้าจำนวนมาก ทั้งสินค้าที่เป็นรูปแบบอุตสาหกรรมดั้งเดิม รวมถึงจีนยังเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จึงทำให้ต้นทุนถูกมาก เพราะฉะนั้นนี่จึงเอื้อกัน อีคอมเมิร์ซโตได้ สินค้าที่ผลิตได้ในประเทศจีนจึงมีต้นทุนราคาที่ต่ำ จีนจึงเป็นชาติที่ได้เปรียบสูงมากเรื่องอีคอมเมิร์ซ”

จับตาอนาคต ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ไทย จะกลับมาสดใสหรือไม่?

ความสามารถของไทยเชิงเศรษฐกิจดิจิทัล

เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่บุกเบิกนำเทคโนโลยี 5G อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเราปรับตัวเรียนรู้ได้แล้ว จะสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของไทยได้มากยิ่งขึ้น

 

“การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐเองมีส่วนช่วยเยอะให้ประเทศไทยสามารถสร้างความแข็งแกร่งในเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ภาครัฐต้องทำ Digital Transformation ของภาครัฐเองก่อน คือ ต้องทำรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลให้มีความสมบูรณ์แบบมากกว่านี้ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบางส่วนก็ทำไปบ้างแล้ว แต่อีกหลายๆ ส่วนราชการ หลายกรมอาจจะยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากนัก ใช้เพียงระดับหนึ่งแต่ยังคงไม่แอดวานซ์มาก ตรงนี้ถือว่าสำคัญ ในด้านรายละเอียด”

 

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ดนุวัศ ยังแนะนำถึงสิ่งที่ภาครัฐต้องปรับเพื่อรองรับในเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในอนาคต ดังนี้

 

  1. ต้องเปลี่ยนและปรับ Mindset ให้พร้อมกับการปรับตัว หรือมี Adaptability และมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากถ้าอยากพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยเรา
  2. สร้างทักษะทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ทำเพียงภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องไล่ไปตั้งแต่ระบบการศึกษา ประถม มัธยม สายอาชีวะ สายวิชาการในมหาวิทยาลัย ต้องสร้างคนให้มีทักษะเก่งด้านดิจิทัล คนที่อยู่นอกระบบการศึกษาก็ต้องไปช่วย Upskill หรือ Reskill ให้เขา ตอนนี้เท่าที่เห็นมีทำไปบ้างแล้ว แต่ยังคงช้าอยู่ ต้องเร่งขึ้นตรงนี้สำคัญมากเราต้องมีบุคลากรให้พร้อมมากกว่านี้
  3. การสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้ารัฐบาลสร้างได้ชัดเจนให้ประชาชนมั่นใจกว่านี้ รวมถึงต้องทำต่อเนื่องก็จะเป็นเรื่องที่ดี
  4. ส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากกว่านี้ ต้องเข้าไปส่งเสริมในวงกว้าง ชนบท พื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เขาได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น
  5. การลดความเหลื่อมล้ำดิจิทัล หรือ Digital Divide ในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเมืองกับชนบทระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่กับกลุ่มผู้สูงอายุ ระหว่างกลุ่มคนที่มีทุนทรัพย์เยอะกับผู้มีทุนทรัพย์น้อย ระหว่างกลุ่มคนที่มีทักษะมีความเก่งด้านดิจิทัลกับคนที่ไม่เก่งหรือไม่มีทักษะ ต้องเข้าไปลดช่องว่างตรงนี้ให้ได้มากที่สุด
  6. คุมเรื่องการสร้างความปั่นป่วนในโลกไซเบอร์ การใช้โซเชียลมีเดียมาสร้าง Fake News ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพในทางที่ผิดๆ การหลอกลวงฉ้อโกงทางการเงิน รวมไปถึงการให้ข่าวที่เป็นเท็จข่าวปลอมทางการเมือง ซึ่งเป็นการสร้างความวุ่นวายในสังคม

 

นี่คือสิ่งที่ภาครัฐต้องเดินต่อไปให้ได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลแข็งแกร่งขึ้น และส่วนตัวประชาชนเองสำคัญมากคือการหมั่นหาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว ต้องหันมาพัฒนาตนเอง เร่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้มีติดตัวไว้เพื่ออนาคตการทำงานของตัวเราเอง

 

“ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าโลกคงเปลี่ยนไปเยอะ แน่นอนว่า Automation หรือ ระบบควบคุมอัตโนมัติ จะเข้ามา พวกเราคงต้องเตรียมตัวให้พร้อม ดูแนวโน้มและศึกษาด้านอาชีพให้ดีว่า ในวงการหรืออุตสาหกรรมที่เราทำโอกาสจะมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มีมากน้อยขนาดไหน เราควรเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือ เราควรพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มเติมอีกบ้างเพื่อการทำงานอนาคต”