เอกชนแห่ขอสิทธิ์ผลิตชุดตรวจโควิดนาโนเทค

05 ส.ค. 2564 | 19:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 02:44 น.

ชุดตรวจโควิด “NANO COVID-19 Antigen Rapid Test” ศูนย์นาโนเทค สวทช. เนื้อหอมหลังผ่านทดสอบประสิทธิภาพ อย. เอกชนแห่รุมจีบขอสิทธิ์ผลิตเชิงพาณิชย์นับ 10 ราย คาดออกสู่ตลาดได้ภายใน 1-2 เดือน ย้ำราคาแข่งขันกับชุดตรวจในท้องตลาดได้ เนื่องจากผลิตในประเทศ

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังนวัตกรรมชุดตรวจ NaNO COVID-19 Antigen Rapid Test เป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Professional Use) ที่วิจัยและพัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ผ่านการประเมินประสิทธิภาพจากทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีผลการทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับวิธีทางอณูวิทยา พบว่า สามารถตรวจหาแอนติเจนหรือตัวเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ในเวลาเพียง 15 นาที และมีความไวถึง 98% และความจำเพาะสูงถึง 100% สามารถใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้น

เอกชนแห่ขอสิทธิ์ผลิตชุดตรวจโควิดนาโนเทค

ทั้งนี้ผลการทดสอบดังกล่าวถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับชุดตรวจที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ทำให้ชุดตรวจดังกล่าวได้รับความสนใจจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ราว 10 ราย เพื่อนำงานวิจัยดังกล่าวไปต่อยอดผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยขณะนี้ได้เริ่มเจรจาไปแล้ว 4 ราย  คาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะได้ข้อสรุป โดยเราจะเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบการนำไปใช้ประโยชน์ของชุดตรวจไปยังเอกชนที่ได้รับสิทธิเร็วที่สุด คาดว่าชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test จะออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้ภายในเวลา 1-2 เดือน”

 ขณะเดียวกัน ศูนย์นาโนเทค สวทช.ยังได้รับงบสนับสนุนจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เครือปตท. ในการผลิตชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 10,000 ชุด เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยศูนย์นาโนเทค เปิดกว้างให้บริษัท หรือองค์กร ที่สนใจให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลิตชุดตรวจดังกล่าวเพื่อนำไปแจกจ่ายในกับโรงพยาบาลต่างๆ หรือโรงพยาบาลสนามด้วย โดยขณะนี้ทีมงานวิจัย มีความสามารถการผลิตได้ 1000 ชุดต่อสัปดาห์ อยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังผลิต เป็น 2,000-3,000 ชุดต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ศูนย์นาโนเทค สวทช. กำลังต่อยอดชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อขอทดสอบประสิทธิภาพ จาก อย. ซึ่งคาดว่าน่าจะยื่นได้ภายในเดือนนี้ แต่ระยะเวลาการประเมินประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับ อย.

ซึ่งต่อข้อถามเรื่องราคาของชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test เมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจที่จำหน่ายในท้องตลาด 300-400 บาท นั้นขอย้ำว่าเป็นราคาที่แข่งขันได้ เพราะวัตถุดิบการผลิตนั้นส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในประเทศ มีเพียงน้ำยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามราคาจำหน่ายเอกชนผู้ได้รับสิทธิ์ไปผลิตเชิงพาณิชย์จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งเชื่อว่าหากมีการผลิตเป็นจำนวนมากต้นทุนต่อหน่วยก็จะถูกลงไปอีกแน่นอน

เอกชนแห่ขอสิทธิ์ผลิตชุดตรวจโควิดนาโนเทค

 ดร.เดือนเพ็ญ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ในระดับบริหารของ สวทช.อยู่ระหว่างการนำเสนอ หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีกำลังจัดซื้อชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test จำนวน 8.5 ล้านชุด แจกให้ประชาชน โดยเชื่อว่าด้วยประสิทธิภาพในการตรวจหาโควิดเบื้องต้น และต้นทุน รวมถึงการผลิตได้ในประเทศ จะช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศได้มหาศาล

 ด้าน ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจ Nano COVID-19 Antigen Rapid Test นี้ เกิดจากการต่อยอดแพลตฟอร์มของ NanoFlu หรือชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อพัฒนาเป็นชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วชนิดการตรวจหาแอนติเจน (เทคนิค LFA) หรือ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยโมเลกุลดังกล่าวจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่าง ๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณจนอ่านสัญญาณได้ภายใน 15 นาที

เอกชนแห่ขอสิทธิ์ผลิตชุดตรวจโควิดนาโนเทค

 จุดเด่นของ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test คือ สามารถแสดงผลที่ชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยขั้นตอนหรือเครื่องมือในการแปลผลที่ยุ่งยากเทียบกับวิธีทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ และยังสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รู้ผลภายในเวลา 15 นาที ทำให้สามารถใช้ได้ทุกสถานที่ (Point of Care) ในการตรวจคัดกรองกับคนจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณ

ผู้ป่วยที่ต้องตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง โดยผู้ที่ให้ผลบวกด้วยวิธี Antigen Rapid Test นี้ ต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง นับว่า เป็นการลดค่าใช้จ่าย ขั้นตอน ลดภาระงานในระบบสาธารณสุขรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้