ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 หรือ COP29 ที่จะเปิดฉากขึ้นในช่วงวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ภายใต้ธีม "In Solidarity for a Green World" หรือ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อโลกสีเขียว" โดยมุ่งนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุม ‘2024 UN Climate Change Conference’ เพื่อเป็นเวทีตรวจสอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) การปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ
หนึ่งในประเด็นเจรจาที่สำคัญคือ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) ภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับ การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา
ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี และได้แสดงเจตนารมณ์ ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2065 (พ.ศ. 2608) อยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการเจรจาในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุม COP29 กรมอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบท่าทีเจรจา ที่จะผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา ตามความต้องการที่กำหนดใน การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution หรือ NDC และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan หรือ NAP ให้เป็นไปตามเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เพื่อให้เงินเหล่านี้ย้อนกลับมาให้ทุกประเทศที่กําลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย นำไปพัฒนาเทคโนโลยี การลงทุน และบุคลากรที่มีศักยภาพมากเพียงพอ ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง สถานภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงมากพอในการลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี ที่ประสิทธิภาพสูงและราคาแพง รวมถึงศักยภาพของบุคลากรที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมการถกเถียงกันในเรื่องของเป้าหมายการลดก๊าซเรือกระจกในปี 2035 ว่าจะมีการยืดหยุ่นอย่างไร หากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายก็จะต้องมีเงินมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมถึงเรื่องของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6(Article 6) ที่ไทยถือว่าเป็นประเทศผู้นําที่ร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ในการใช้กลไกข้อนี้ ในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ประเทศอื่นได้เรียนรู้ที่จะออกแบบระเบียบวิธีในการทํางานในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดร.พิรุณ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้มีแผนปฏิบัติมาอย่างต่อเนิ่อง ซึ่งล่าสุดได้ทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดแผนงาน มาตรการ และเป้าหมายการลดก๊าซในระดับสาขาเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 222 ล้านตัน หรือ 40 % จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศสัดส่วน 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7 % ซึ่งในแผนประกอบด้วยแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง 17 แผนงาน 130 มาตรการ
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯดังกล่าว ขณะนี้ได้นำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ จะมีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละสาขา ทั้ง พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ในโครงการนำร่องแหล่งอาทิตย์
รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ขณะที่นโยบายรัฐบาล จะผลักดันในไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระดับอาเซียน ผ่านตลาดหลักทรัพย์นั้น มองว่า ตลาดคาร์บอนเครดิตในทุกวันนี้ ทุกประเทศทั่วโลกไม่มีความแตกต่างกัน คือไม่มีสภาพคล่อง หรือการซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามซัพพลาย-ดีมานด์ เลยไม่สามารถทําให้ตลาดมันขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำถูกบังคับใช้ จะช่วยสร้างความต้องการจากตลาดภาคบังคับมาเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนครดิตภาคสมัครใจ สามารถกําหนดได้ว่าอยากได้คาร์บอนเครดิตประเภท เชื่อมโยงกับชุมชนมีใครได้ประโยชน์บ้าง เป็นการสร้างดีมานด์สามารถมองเห็นได้ในระยะ 5 ปี หรือสามารถทําสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่จะไปซื้อขายในมาร์เก็ตแพลตฟอร์มที่ตลาดหลักทรัพย์ได้
ทั้งนี้ ในการยกร่างพ.ร.บ. ก็ได้มีการหารือตลาดหลักทรัพย์แล้ว มีการเขียนบทบัญญัติให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาดหลัก เพิ่มขีดความสามารถในการซื้อขาย ขณะเดียวกันไทยได้มีการยกระดับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นระดับ Premium T-VER ซึ่งจะช่วยให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ดังนั้น เชื่อว่าในมิติที่เราขับเคลื่อนพร้อมกันไทยจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องของตลาดคาร์บอนได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4028 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง