energy

เปิด 3 ข้อเสนอ “TDRI” ปฏิรูปโครงสร้างค่าไฟ แก้ปัญหาราคาแพงแบบยั่งยืน

    เปิด 3 ข้อเสนอ “TDRI” ปฏิรูปโครงสร้างค่าไฟ แก้ปัญหาราคาแพงแบบยั่งยืน ชี้การตรึงค่าไฟช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะสั้น แต่สร้างผลทั้งเป็นต้นทุนเศรษฐกิจในอนาคต และต่อระบบพลังงานของประเทศ

ลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย วาจาเด็ดจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สะเทือนไปทั้งวงการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ตามมาว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะดำเนินการให้กลายเป็นความจริง

ทั้งนี้ ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) จัดงานสัมมนา “ไฟแพง…แก้อย่างไร ? เขย่าโครงสร้างราคา ขยับสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี” รวมถึงเปิดข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟอย่างเป็นธรรม และการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าให้เป็นแบบเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สมาคมพลังงานหมุนเวียน (RE100) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ราคาค่าไฟงวดล่าสุดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศ 3 ทางเลือก ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเงินและจำนวนงวดที่จะชำระหนี้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

ซึ่งถ้ารัฐเลือกที่จะชำระหนี้คืนทั้งหมดก็จะทำให้ค่าไฟในงวดนี้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 4.50 บาทต่อหน่วย แต่ภาครัฐต้องการที่จะช่วยลดภาระประชาชนโดยการยืดชำระหนี้ จึงทำให้ค่าไฟลงมาอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และประกาศราคาที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นการยืดชำระการคืนหนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องจ่ายในอนาคต ดังนั้น ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างอย่างเหมาะสม หนี้ส่วนดังกล่าวนี้ก็จะไปบวกรวมกับค่าไฟในอนาคต

เปิด 3 ข้อเสนอ “TDR”I ปฏิรูปโครงสร้างค่าไฟ แก้ปัญหาราคาแพงแบบยั่งยืน

ทั้งนี้ TDRI จึงเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างรอบด้าน ว่าการตรึงราคาค่าไฟฟ้า แม้จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะสั้น 

อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงแนวทางดังกล่าวได้สร้างผลกระทบในหลายด้าน ทั้งเป็นต้นทุนเศรษฐกิจในอนาคต และต่อระบบพลังงานของประเทศ เช่น

  • สภาพคล่องของกฟผ. ที่ต้องรับภาระต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงได้
  • เสี่ยงต่อการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้ผู้บริโภคขาดแรงจูงใจในการประหยัดไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง 
  • โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงของระบบพลังงาน ต้องเผชิญกับปัญหาราคาขายไฟฟ้าที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือการลงทุนเพิ่มเติม อันจะกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว

ดร.อารีพร กล่าวอีกว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเป็นไปอย่างยั่งยืน คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ เสนอแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟอย่างเป็นธรรม ประกอบด้วย

  • ในระยะสั้นที่ไทยยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ควรสนับสนุนให้มีการแข่งขันทางด้านราคา และมีมาตรการดูแลในเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม
  • รัฐพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนจากท่อก๊าซที่ใช้งานแล้วเท่านั้น ไม่ควรนำท่อก๊าซที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุนแต่ได้รับการอนุมัติแล้วมารวมด้วย เนื่องจากอายุของท่อก๊าซโดยเฉลี่ยอายุ 40 ปี ต้นทุนคงที่จะถูกลงเรื่อย ๆ เพราะมีการหักอายุค่าเสื่อมราคาทุกปี แต่ปัจจุบันมีการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้นทุนคงที่ในส่วนนี้ไม่ลดลงตามที่ควรจะเป็น จึงกลายเป็นต้นทุนส่วนเกิน และเป็นต้นทุนที่บวกเพิ่มในค่าไฟฟ้าของประชาชน ขณะที่ต้นทุนการจองท่อก๊าซถูกส่งผ่านมาในรูปค่าไฟ อยากให้รัฐปรับพิจารณาตามการใช้งานจริง และต้นทุนค่าแปรสภาพก๊าซ หากไม่มีการเตรียมมาตรการมารองรับจะเป็นส่วนเกินที่กำจัดยากในอนาคต
  • การแก้ไขปัญหาปลายน้ำที่สำคัญคือ ส่วนที่รัฐควรดำเนินการปรับหลักการคิดค่าความพร้อมจ่าย (AP) โดยทบทวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ส่งผลให้มีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มแต่ไม่มีการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าโรงไฟฟ้าไม่มีทางขาดทุนเพราะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในรูปแบบ cost plus ไว้แล้ว ดังนั้นหากไม่ได้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าก็จะได้รับเงินชดเชยหรือที่เรียกว่าค่าพร้อมจ่าย

“ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียค่าความพร้อมจ่ายไปกับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องกว่า 5 แสนล้านบาท และยังพบว่าเฉพาะปี 2024 ที่ผ่านมา เรามีโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่ 13 โรง ไม่ได้เดินเครื่อง 7 โรง ทำให้เราเสียค่าความพร้อมจ่ายไปแล้ว 2,500 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม รัฐรับรู้อยู่แล้วว่ามีต้นทุนในส่วนนี้และไม่ควรเกิดขึ้น แต่จากร่าง PDP2024 ยังมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มอีก 11 โรง เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซรวม 6,300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวอีก 3 โรง รวม 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้เดินเครื่องอย่างแน่นอนเพราะในร่าง PDP ฉบับนี้ยังคงคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงอยู่

โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมกันรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าข้างต้นเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้น การแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต้องพิจารณาทั้งห่วงโซ่อุปทานที่จะทำให้ไทยได้ไฟฟ้าสะอาดในราคาที่เป็นธรรม และตอบรับกับการมุ่งสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเครื่องมือที่จะช่วยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ คือการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี