“พลังงาน” หนุนวิสาหกิจชุมชนสมุทรสงครามใช้พลังงานทดแทนลดรายจ่ายกว่า 50%

20 พ.ย. 2567 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 11:48 น.

“พลังงาน” หนุนวิสาหกิจชุมชนสมุทรสงครามใช้พลังงานทดแทนลดรายจ่ายกว่า 50% เดินหน้าส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร ทั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เตามณฑล

นายสุนทร อุษาบริสุทธิ์ พลังงานจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนกับวิสาหกิจชุมชน จ.สมุทรสงคราม 

ทั้งนี้ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่ กระดาษสาจากก้านกุหลาบ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เตามณฑล ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

จากเดิมกระบวนการผลิตแบบเดิม กลุ่มวิสาหกิจประสบปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นซึ่งเดิมต้องตากแห้งกากมะพร้าว 2 – 3 วัน ซึ่งการตากแดดตามธรรมชาติทำให้การผลิตขาดช่วงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน 
 

อีกทั้งยังควบคุมคุณภาพได้ยาก หรือการต้มสีย้อมสำหรับผ้ามัดย้อม ซึ่งเดิมใช้เตาฟืนขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพต่ำ มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูง และส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพของสินค้าอีกด้วย

“พลังงาน” หนุนวิสาหกิจชุมชนสมุทรสงครามใช้พลังงานทดแทนลดรายจ่ายกว่า 50%  

สำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้ผลักดันกลุ่มวิสาหกิจเข้ารับการสนับสนุนงบประมาณ โดยได้รับสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและเพิ่มกำลังผลิต ได้แก่ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2 x 2 เมตร จำนวน 18 ระบบ และขนาด 3 x 4 เมตร จำนวน 1 ระบบ 

เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เตามณฑล) 2 กระทะ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการให้ความร้อนสูงและสามารถใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ เช่น ทางมะพร้าว เป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนได้ ชุดครอบหัวเตาแก๊ส 2 ชุด ซึ่งช่วยควบคุมประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงให้ดียิ่งขึ้น 
 

และรถเข็นสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ ขนาด 340 วัตต์ จำนวน 1 ระบบ เพื่อใช้สำหรับเกษตรกรรมของกลุ่ม 

"สำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนพลังงานชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมผสานระหว่าง ประชาชน-รัฐ-เอกชน เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานของท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและผลักดันการใช้พลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรในกลุ่มชุมชน"

นายสุนทร กล่าวอีกว่า  ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตอย่าง ฟืน และก๊าซ LPG รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน การได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทั้งระบบอบแห้ง เตามณฑล ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตลงได้ 50% 

โดยประหยัดค่าก๊าซ LPG และฟืน คิดเป็นเงินได้ประมาณ 10,000 บาทต่อปี ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมีที่รายได้ 2 - 4 แสนบาทต่อปี เพิ่มเป็น 5 แสนบาทต่อปี