สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงมากกว่า 2% ในวันศุกร์ (15 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงในจีน และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลงราว 5% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงราว 4%
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ในเดือนต.ค. โรงกลั่นน้ำมันของจีนกลั่นน้ำมันดิบลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากการปิดโรงงานและอัตราการดำเนินการที่ลดลงที่โรงกลั่นน้ำมันอิสระขนาดเล็ก
การขยายตัวของผลผลิตโรงงานของจีนชะลอตัวลงเมื่อเดือนที่แล้ว และปัญหาด้านความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะดีขึ้น ซึ่งเพิ่มความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของจีนที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สัญญาว่าจะยุติสถานะชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most-favored-nation) ของจีนในด้านการค้า และจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมากกว่า 60% ซึ่งสูงกว่าภาษีที่เรียกเก็บในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์
บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ รีเสิร์ช (Goldman Sachs Research) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างมากภายใต้รัฐบาลของทรัมป์
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันลดลงในสัปดาห์นี้หลังจากมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะชะลอตัวลง
"ความต้องการน้ำมันทั่วโลกกำลังอ่อนแอลง" ฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) กล่าวเมื่อวันศุกร์ในการประชุมสุดยอด COP29
IEA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันทั่วโลกจะสูงกว่าความต้องการมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2568 แม้ว่าการปรับลดการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัสจะยังคงมีผลอยู่ก็ตาม
ในขณะที่โอเปกได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของความต้องการน้ำมันทั่วโลกสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยเน้นย้ำถึงความต้องการอ่อนแอในจีน อินเดีย และภูมิภาคอื่น ๆ
ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกินคาดในเดือนต.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มต้นไตรมาส 4 ได้อย่างแข็งแกร่ง
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้กำหนดนโยบายของเฟด พิจารณาเกี่ยวกับความเร็วและขอบเขตของการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นักลงทุนได้ปรับลดความคาดหวังเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมของเฟดในเดือนธ.ค.
การลดอัตราดอกเบี้ยมักกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการน้ำมัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง