ประเทศไทยยังคงยืนยันบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยล่าสุดในงาน THAILAND CLIMATE ACTION CONFERENCE การประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (TCAC 2024) นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของไทยในที่ประชุม "COP29" ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 ถึง 22 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions : NDCs) และผลักดันการตั้ง เป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal : NCQG) ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายปวิชได้กล่าวเน้นย้ำถึงสถานการณ์โลกร้อนที่ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ความรุนแรงนี้ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่ไม่เคยคาดคิด เช่น อุทกภัย พายุไต้ฝุ่น และคลื่นความร้อนทั่วโลก ซึ่งการที่หลายประเทศมาร่วมเจรจาในการประชุม COP นั้นก็เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน
โดยประเทศไทยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับนานาชาติผ่านกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งได้ทำการเจรจาและลงนามร่วมกันมานานกว่า 30 ปี
ในส่วนของการประชุม COP29 นายปวิชได้เน้นถึงประเด็นสำคัญที่จะมีการพูดคุยและเจรจากันอย่างจริงจังในปีนี้ หนึ่งในหัวข้อหลักคือการปรับปรุงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แต่ละประเทศได้ให้คำมั่นไว้ หรือที่เรียกว่า Nationally Determined Contributions (NDC) โดยในปีนี้ประเทศต่างๆ จะต้องยกระดับเป้าหมาย NDC ของตนให้มีความเข้มข้นและสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวที่จะรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้
สำหรับประเทศไทยเองได้เสนอเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 40% ภายในปี 2573 แต่ใน COP29 จะมีการปรับปรุงและตั้งเป้าหมายใหม่ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในด้านพลังงานและการบริหารทรัพยากรของประเทศ
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญใน COP29 คือการหารือเรื่องการตั้ง Climate Finance "เป้าหมายทางการเงินใหม่ NCQG" ที่จะสนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.1 ถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 40.15 ถึง 47.45 ล้านล้านบาท โดยในการประชุม COP28 ที่ผ่านมานั้นมีการวางกรอบ NCQG ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และ COP29 จะเป็นเวทีสำคัญในการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงแนวทางการระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อนำมาสนับสนุนเทคโนโลยีและความรู้แก่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ
นายปวิชยังได้กล่าวถึงบทบาทของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใน COP28 ได้มีการจัดตั้งกองทุน Loss and Damage Fund เพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ กองทุนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากนานาชาติเป็นจำนวนกว่า 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ และใน COP29 จะมีการพูดคุยเรื่องการบริหารจัดการกองทุนนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
นอกจากการเจรจาด้านการเงินและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว นายปวิชยังเน้นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งไทยได้เริ่มดำเนินการมาแล้วภายใต้แผนพลังงานชาติที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล
นอกจากนี้ ในปีนี้ ยังเป็นปีที่ทุกประเทศต้องส่งตัวเลขเป้าหมายใหม่ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางของโลกในทศวรรษหน้า โดยตัวเลขใหม่นี้หลายประเทศได้คาดหวังว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากถึง 60% ภายในปี 2578 ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ประเทศไทยจะต้องรับมืออย่างจริงจัง
การประชุม COP29 เป็นเวทีสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด นายปวิชได้กล่าวถึงความสำคัญของการรวมพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในการประชุมที่ผ่านมา