สมาคมสายการบิน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

07 ต.ค. 2567 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 18:11 น.

สมาคมสายการบินประเทศไทยจัดงาน “THAI AVIATION SUSTAINABILITY DAY 2024” พร้อม มุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ด้าน CAAT จ่อออกกฏบังคับสายการบิน ทำการบินออกจากไทย ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป

วันนี้ (วันที่ 7 ตุลาคม 2567) สมาคมสายการบินประเทศไทย รวมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT  จัดงาน “Thai Aviation Sustainability Day 2024” โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ เอกชน และสายการบินชั้นนำกว่า 300 คน รวมทั้งพันธมิตรสนับสนุน ได้แก่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด

สมาคมสายการบินประเทศไทย

โดยจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้นี้มุ่งเน้นการนำเสนอวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในภาคการบิน พร้อมการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม

 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินไทย พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวไปข้างหน้าภายใต้กรอบของความยั่งยืน

สมาคมสายการบิน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

สำหรับข้อกำหนดของภาครัฐที่เตรียมประกาศบังคับใช้ในปี 2569 ให้สายการบินต้องเพิ่มสัดส่วนใช้น้ำมัน SAF  1% คงต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันดังกล่างเป็นต้นทุนที่แพงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 3 เท่า

ดังนั้นการทยอยเอามาเป็นส่วนผสมเล็กน้อย ถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้บริหารจัดการต้นทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะภาคเอกชนยังคงหวังว่าภาครัฐจะมีแนวทางทำให้ต้นทุนเหล่านี้ปรับลดลงได้ ไม่ว่าจะเกิดจากวิธีลดต้นทุนการผลิต หรือภาครัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนต้นทุน เพื่อทำให้สายการบินเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายต่อไปได้

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Roadmap to Aviation Net Zero” โดยเน้นการสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050

รวมถึงการใช้มาตรการเชิงรุกในเชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (เชื้อเพลิง SAF) โดย CAAT เตรียมออกกฏบังคับสายการบิน ทำการบินออกจากไทย ต้องใช้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1% ในปี 2569 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป

 

กพท.ได้ทำแผนแม่บทขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยจะเดินหน้าผ่าน 4 เสาหลัก ประกอบด้วย

1.พัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เครื่องยนต์ต้องประหยัดน้ำมัน

2.บริหารจัดการห้วงอากาศให้มีประสิทธิภาพ เกิดความคล่องตัว ใช้พลังงานน้อย

3. สนับสนุนสายการบินใช้ SAF ซึ่งประเด็นนี้คงต้องรอภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันด้วย

4.มาตรการตลาด ที่จะเข้ามาชดเชยผู้ประกอบการ

วันนี้จะให้สายการบินเติมน้ำ SAF กี่เปอร์เซ็นต์ก็ทำได้ หากภาครัฐมีมาตรการชดเชย และต้นทุนสายการบินเท่าเดิม แต่ตอนนี้เราต้องเอาเป้าหมายประเทศมาเป็นตัวตั้ง เพื่อร่วมกันทำเรื่องนี้ด้วยกัน และดูโรดแมพ 4 เรื่องนี้ว่าจะเดินอย่างไร ส่วนสำคัญเป้าหมายนี้จะไปไม่ได้หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ กพท.พร้อมสนับสนุนให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างทำกฎระเบียบข้อบังคับที่จะใช้ในอุตสาหกรรมการบินเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ในปี 2569 โดยระยะแรกจะกำหนดให้สายการบินใช้น้ำมัน SAF 1% และหลังจากนั้นจะเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่องในปี 2570 เป็น 2% โดยสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องดูที่ผู้ผลิตอาจมีซัพพลายไม่เพียงพอในการผลิตน้ำมัน SAF จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ การเสวนา Panel Discussion ซึ่งรวมผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากสายการบินชั้นนำและภาคธุรกิจพลังงาน โดยมีหัวข้อ “Understanding Airlines Strategies in Meeting Net Zero” ที่เน้นการเตรียมความพร้อมและการวางกลยุทธ์เพื่อเข้าสู่ยุคการบินสะอาด 

สมาคมสายการบิน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทางเลือกเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการบิน

ส่วนช่วงท้ายของงานยังมีการเสวนาหัวข้อ CORSIA และตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีระดับโลก และการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคาร์บอนเครดิตเพื่อตอบสนองต่อกฎเกณฑ์ CORSIA ภายใต้ข้อตกลงปารีส

สมาคมสายการบิน พร้อมมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวแสดงความเชื่อมั่นจากการทำงานร่วมกันเเละแบ่งปันประสบการณ์ทำงานด้านความยั่งยืน ทำให้เห็นความก้าวหน้าสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายตามแผน

พร้อมทำให้เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจนและประเมินผลได้ พร้อมยืนยัน “อุตสาหกรรมการบิน” จะยังเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเชื่อมต่อผู้คนทั้งเศรษฐกิจ สังคม  ในขณะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

การจัดงาน “Thai Aviation Sustainability Day 2024” ในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินไทย สู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 อย่างเป็นรูปธรรม