นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ได้แจ้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าได้ดำเนินการเจาะหลุมประเมินผล PH-14 ของโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม และพบก๊าซธรรมชาตินั้น นับว่าเป็นข่าวดีด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด เป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 และผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5N หรือโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี ได้ดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวเฉลี่ยประมาณ 200 บาร์เรลต่อวัน
ขณะเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินการเจาะหลุมประเมินผล PH-14 ของโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อมตามแผนการดำเนินงาน และได้ขุดเจาะพบก๊าซธรรมชาติ โดยในเบื้องต้นบริษัทฯ มีการประเมินอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติได้ที่ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศที่มีแหล่งพลังงานเพิ่ม สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์พลังงานโลกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งปิโตรเลียมนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งประเทศยังได้รับประโยชน์จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ได้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศมาโดยตลอด โดยในการดำเนินการเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ กลิ่น และเสียงรบกวน ให้อยู่ในระดับมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง