ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงวิสัยทัศน์หลังเข้ามารับตำแหน่งว่า จากนี้ไปการกำกับกิจการพลังงานของสำนักงาน กกพ.จะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรก เพราะเชื่อว่าการการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเป็นธรรมให้ธุรกิจสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจได้อย่างโปร่งใส โดยได้วางเป้าหมายที่จะกำกับดูแลค่าไฟฟ้าของประเทศให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และดูแลราคาพลังงานให้กระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยให้น้อยที่สุด เนื่องจากมองว่าค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการติดตามต้นทุนราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปคิดคำนวณการปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 2567 ซึ่งจะมีตัวแปรที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ff) นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
“เบื้องต้นจากการติดตามราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในตลาดโลกมีทิศทางลดลงมาอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ถือเป็นผลบวกกับประชาชน ทางสำนักงาน กกพ. จะได้รวบรวมข้อมูลสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับการพิจารณาระดับนโยบายว่าจะมีทิศทางอย่างไรเกี่ยวกับค่าไฟ”
นอกจากนี้ ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดที่เข้ามาในระบบมากขึ้น รับมือกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงรวดเร็ว การกำกับดูแลที่โปร่งใสจะทำให้เกิดความมั่นคงพลังงานที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุด สำนักงาน กกพ. จะมีการวางแผนการกำกับดูแลให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่นมากที่สุด และเปิดให้มีการแข่งขัน ทำให้ต้นทุนถูกลง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการจ่ายค่าพลังงานที่ลดลง ในที่สุดเมื่อแหล่งผลิตพลังงานในอนาคตมีความปลอดภัย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมก็จะยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนตามมาด้วย
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจตอนนี้มีภาพการเคลื่อนย้ายทุนที่รวดเร็ว กำลังมองหาแหล่งที่จะปักหลักลงทุน การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอจะเป็นการดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งสำนักงานกกพ.จะทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค Energy Transition ให้เศรษฐกิจเติบโต ผ่านภาคพลังงานสะอาดที่เข้มแข็ง มีความมั่นคง เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่
ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติได้สอบถามการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานสะอาดในไทย ไม่ว่าจะเป็น Google สนใจจะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับ Data Center รวมถึงบริษัท อะเมซอน สนใจจะลงทุนในไทยเช่นกัน ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้เตรียมความพร้อมไฟฟ้าสีเขียวไว้รองรับการลงทุนทั้งนักธุรกิจของไทยและต่างประเทศแล้ว โดยการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวประเภท UGT 1 หรือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงโรงไฟฟ้าในการขอรับบริการ (ไม่ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) ได้เปิดให้ผู้สนใจเริ่มซื้อไฟฟ้าสีเขียวประเภทนี้แล้ว
ส่วน UGT 2 เป็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มา (ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) อยู่ระหว่างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปรับปรุงกฎระเบียบและกระบวนการต่างๆให้แล้วเสร็จ เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าให้เร็วที่สุดในปี 2568 ขณะเดียวกันจะมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าสีเขียวด้วย
รวมถึงโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) ที่สำนักงาน กกพ. ศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หลังจากนี้ไปทางสำนักงาน กกพ. จะนำข้อมูลมาออกแบบรายละเอียดการทำงานร่วมกับ 3 การไฟฟ้า รวมถึงการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access), อัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าด้วย คาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งทั้งหมดอยู่บนกรอบของความปลอดภัย ความมั่นคง และลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าหลักให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ ในอนาคตพลังงานสะอาดจะเป็นพื้นฐานสำคัญยังมีแบตเตอรี่ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย
อย่างไรก็ตาม ดร.พูลพัฒน์ กล่าวถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นว่า สิ่งแรกคือ ความคาดหวังที่เกิดขึ้นในสังคม มองว่าเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องทำให้ต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ผลกระทบเศรษฐกิจของประชาชนจนเกินไป
ประการต่อมา การเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของภาคพลังงาน ซึ่งทางสำนักงาน กกพ. จะมีการปรับตัวการทำงานในเชิงการกำกับให้เกิดการเท่าทัน พร้อมกับวางแผนในอนาคตการกับดูแลภาคธุรกิจที่จะมีการออกแบบมาใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน
วันนี้ในโลกกำลังเดินไปสองเรื่องหลักคือ Go Green และ Go Digital ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคพลังงานกำลังเปลี่ยนแปลงสำนักงานกกพ.ต้อง เตรียมความพร้อมในโอกาสสำคัญของจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 เมื่อบวกกับกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะเป็นกระแสหลักจะทำให้ทั้งภาคนโยบายและภาคการกำกับดูแลต้องใส่ใจดูแลเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
ประการสุดท้าย การสร้างองค์ความรู้ทางด้านพลังงานให้ประชาชนในประเทศมีภูมิคุ้มกัน เพื่อหยุดข่าวลือ ข่าวลวง ที่จะนำไปสู่การบิดเบือน จึงจำเป็นจะต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์การเคยทำงานร่วมกับองค์กรในต่างประเทศได้เห็นความเป็นมืออาชีพ ความก้าวหน้าทันสมัยของภาคพลังงาน ซึ่งจะนำมาพัฒนาให้ภาคพลังงานของประเทศไทยได้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที เพราะเชื่อว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้กับประเทศ ย่อมมาจากการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง