"รัฐ-เอกชน" ผุด "SustainAsia Week 2024" ดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

25 มิ.ย. 2567 | 19:53 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 19:53 น.

"รัฐ-เอกชน" ผุด "SustainAsia Week 2024" ดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เดินหน้าหนุนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมสร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รุกแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าเทคโนโลยีกับนานาชาติ

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานการจัดงาน SustainAsia Week 2024 และ Sustainable Energy Technology Asia 2024 หรือ SETA2024 เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงสนับสนุนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมสร้างชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ จึงได้ดำเนินการผ่าน SustainAsia Week 2024 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับนานาชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดและไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดมลพิษ และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและเศรษฐกิจ 

โดยเป็นความร่วมมือของบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 

สำหรับ SustainAsia Week 2024 จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยุคที่อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต 

และผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยหลังปี ค.ศ. 2040 เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอน การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCUS) จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายดังกล่าว

"รัฐ-เอกชน" ผุด "SustainAsia Week 2024" ดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) ระบุว่าชาติสมาชิกอาเซียนมีการใช้เทคโนโลยี CCS ใน 85% โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และ 91% ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงปีค.ศ.2050 

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี CCS จึงจำเป็นสำหรับประเทศที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน โดยปัจจุบันมีการดำเนินโครงการ CCS หลายโครงการในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ทั้งนี้ โครงการสาธิตเทคโนโลยี CCS ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า โครงการสาธิตเทคโนโลยี CCS จะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่โครงการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี ค.ศ. 2025 - 2030
 

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี CCUS จึงได้จัดงาน Asia CCUS Network Forum ครั้งที่ 4 (ACNF4) ขึ้นภายใต้ SustainAsia Week 2024 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) สถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงาน ประเทศญี่ปุ่น IEEJ (Institute of Energy Economics, Japan) และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) 

โดยจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดกรอบการทำงานด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ CCS) และ CCUS มุมมองเชิงเศรษฐกิจและนโยบายด้านการรีไซเคิลคาร์บอน และความร่วมมือกับหน่วยงาน Carbon Management Challenge เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศเพิ่มการใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน 

นอกจากนี้ จะมีการลงนาม MOU/MOC ระหว่างหน่วยงานของญี่ปุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากชาติสมาชิกอาเซียน