ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. เตรียมทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจตามแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ (2568-2572) ภายในเดือน ส.ค. 2567 นี้ โดยจะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท.(บอร์ด ปตท.) อนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. 2567 นี้ ทั้งวงเงินลงทุน ธุรกิจที่จะเร่งเดินหน้าต่อ และธุรกิจที่อาจจะปรับลดขนาด หรือถอยการลงทุนลง เป็นต้น
ซึ่ง ปตท.จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง และเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังเห็นแผนการลงทุนที่ชัดเจนออกมาในอนาคต
สำหรับการทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจดังกล่าว จะทบทวนธุรกิจของปตท.ทั้งหมด ทั้งในส่วนของธุรกิจ Hydrocarbon and Power ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิต ,ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ,ธุรกิจไฟฟ้า ,ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ,ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และในส่วนของธุรกิจ Non-Hydrocarbon Business ได้แก่ ธุรกิจ EV ,ธุรกิจ Logistics ,ธุรกิจLife Science และธุกรกิจDigital / AI
จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าที่ผ่านมา บอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ได้มีมติอนุมัติงบฯลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปตท. จะขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะผลักดันด้านพลังงานให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ฉบับใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในสัดส่วน 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
โดย ปตท. จะเข้าไปมีบทบาททั้งการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสิทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 และ CCS ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคคต
"ปัจจุบัน ปตท. ได้เริ่มเข้าไปลงทุนธุรกิจไฮโดรเจนในต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี และหากในอนาคตธุรกิจนี้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ปตท. ก็พร้อมที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เช่น หากรัฐเริ่มส่งเสริมให้นำไฮโดรเจนมาผสมรวมในท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทาง ปตท. ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายต่อไป รวมถึงในอนาคตอาจขยายการลงทุนเข้าไปสู่การใช้ไฮโดรเจนในธุรกิจ Mobility ต่อไป"
ส่วนกรณีที่ภาครัฐเดินหน้าผลักดันความร่วมมือในการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ปตท.ยืนยันจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐแน่นอน เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง