zero-carbon

"เชฟรอน" อัด 4.5 ล้าน หนุนสหกรณ์ยูงทอง ผลิตยางคาร์บอนต่ำ แห่งแรกของไทย

    “สงขลา” ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี (พ.ศ. 2566 -2585) ที่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนไปสู่การป้องกัน อนุรักษ์ เร่งสร้างแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีความยั่งยืน เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีแนวทางการพัฒนามุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การอนุรักษ์ และการนำวิถีพลังงานสะอาดมาใช้ผ่านการสนับสนุนด้าน นโยบาย แรงจูงใจทางการเงิน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยจังหวัดสงขลาประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลักกว่า 90% ของการผลิตยางธรรมชาติ มาจากเกษตรกรรายย่อย โดยความเป็นอยู่ของเกษตรกรผูกโยงกับราคายางพารา ซึ่งมีการผันผวนตามราคาของนํ้ามันและสินค้าโภคภัณฑ์ โรงงานยางแผ่นรมควันขนาดเล็ก หรือ “สหกรณ์ยางแผ่นรมควัน” จึงถูกจัดสร้างขึ้นโดยการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงปี พ.ศ. 2537-2538 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปนํ้ายางสดเป็นแผ่นรมควันที่สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

\"เชฟรอน\" อัด 4.5 ล้าน หนุนสหกรณ์ยูงทอง ผลิตยางคาร์บอนต่ำ แห่งแรกของไทย

อย่างไรก็ดี การผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและนํ้าเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2558 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนนํ้าเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่น เพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน พร้อมนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและการดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง และสหกรณ์บ้านทรายขาว นำร่องเป็นต้นแบบ

 ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐที่มุ่งให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG)

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เชฟรอนฯได้สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยงบประมาณรวมกว่า 10.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันในระดับชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในระยะยาวของสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาว จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง จำกัด ได้รับการสนับสนุนราว 4.5 ล้านบาท โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จากนํ้าเสียกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันมาใช้ เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับไม้ฟืน ช่วยลดการใช้ฟืนได้ประมาณ 25-30% ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯ ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 425 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 31 % รวมถึงช่วยขจัดกลิ่นเหม็นรบกวนอีดด้วย

รวมทั้ง ได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังนำนํ้าทิ้งที่อุดมด้วยสารอาหารไปใช้เป็นปุ๋ยนํ้าแก่สวนยางพาราโดยรอบ ช่วยเพิ่มผลผลิตนํ้ายางในสวนยางพารา ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน ตลอดจนทำให้การผลิตยางแผ่นรมควันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งโมเดลดังกล่าวสามารถเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์อื่น ๆ ในพื้นที่ต่อไปได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนมาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว โดยเมุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา และกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่แน่ใจว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหมาะสมกับวิถีการดำรงอยู่ของวิสาหกิจชุมชนยางพารา

ล่าสุด มหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง ในโครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เพื่อผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Productหรือ CFP) เป็นแห่งแรกของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียน และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์

รวมถึงการดำเนินงานด้านการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER) เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตประเภทภาคเกษตร ของสหกรณ์กองทุนสวนยางยูงทอง ที่มีสมาชิกกว่า 200 ราย จำนวนสวนยางพาราว่า 1 พันไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) ของโครงการ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานดังกล่าวทั้งหมด จะช่วยให้สหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทอง บรรลุสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทยต่อไป และนำโมเดลดังกล่าวขยายหรือต่อยอดไปสู่สหกรณ์สวนยางอื่น ๆ ของประเทศต่อไปได้ด้วย