energy
717

เปิดร่างพีดีพี เพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3.4 หมื่น MW ชูแสงอาทิตย์สัดส่วน 70%

    สนพ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ 12-13 มิ.ย. ดันเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 34,051 เมกะวัตต์ ชูผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 70% ที่กำลังผลิต 23,612 เมกะวัตต์ หนุน Net Zero พร้อมบรรจุพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กสัดส่วนราว 1% ของกำลังผลิตรวมในแผน

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของแผนพลังงานชาติ ที่กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12- 13 มิถุนายน 2567 นี้

แผนพีดีพีนอกจากจะเป็นการวางแผนเพื่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังตอบโจทย์หรือช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2065 อีกด้วย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จากการใช้พลังงานอยู่ที่ 62 ล้านตัน เป็นในส่วนของการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนอยู่ที่ 38 %

ทั้งนี้ในกรอบแผนพลังงานชาติ ได้ระบุด้านการผลิตไฟฟ้าไว้ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยจะมีสัดส่วนพลังงานทดแทน(RE )ไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งล่าสุดทางสนพ.ได้จัดทำร่างแผนพีดีพีเสร็จแล้ว และพร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การจัดทำร่างแผน PDP เป็นการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสมมติฐานและสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามที่ได้ทำการพยากรณ์ไว้ ภายใต้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีเหมาะสม ไม่แพงจนเกินไปและไม่ถูกจนเกินไป และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ล่าสุดคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างแผนพีดีพี 2024 แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงเล็กน้อย โดยจะสามารถเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567 นี้ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 17 มิถุนายน และวันที่ 19 มิถุนายน 2567

เปิดร่างพีดีพี เพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3.4 หมื่น MW ชูแสงอาทิตย์สัดส่วน 70%

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในร่างแผนพีดีพีดังกล่าว จะมีการบรรจุแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2567-2580 ไว้ราว 34,051 เมกะวัตต์ โดยไม่รวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้วแบ่งออกเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 23,612 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์พลังนํ้าขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และพลังความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์

“ในร่างแผนพีดีพี ระยะแรกปี 2569 จะมีพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าเข้าระบบราว 358 เมกะวัตต์ และจะทยอยเข้าระบบทุกปีจนครบ 2,681 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินจะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2574 เป็นต้นไปประมาณ 1,248 เมกะวัตต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 6,767 เมกะวัตต์ ในปี 2575 เป็นต้น เช่นเดียวกับพลังงานลม ทยอยเข้าระบบในปี 2574 ราว 810 เมกะวัตต์ และจะทยอยเข้าระบบทุกปีราว 735-800 เมกะวัตต์”

อีกทั้ง ร่างแผนพีดีพียังบรรจุการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีระบบกักเก็บพลังงาน ช่วงปี 2567-2580 ไว้ด้วย เป็นประเภทโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนราว 10,485 เมกะวัตต์ รวมระบบกักเก็บพลังงาน 12,957 เมกะวัตต์ ช่วยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2580 จะอยู่ที่กว่า 1 แสนเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพีเดิมอยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอยู่ราว 18,833 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนพีดีพีใหม่ จะมีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง เปลี่ยนแปลงไปจากแผนพีดีพี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยก๊าซธรรมชาติจะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 39% จาก 53% ถ่านหินและลิกไนต์ 7% จาก 12% และเพิ่มพลังนํ้าต่างประเทศเป็น 15%  จาก 9% พลังนํ้าในประเทศ 2% จาก 1.6%

ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนสูงถึง 17% (พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า 1% ) จาก 5.5 % พลังงานหมุนเวียนอื่นๆเพิ่มเป็น 15% จาก 13.5% การอนุรักษ์พลังงานลดลงเหลือ 0.04% จากมีสัดส่วน 5.5% พลังนํ้าแบบสูบกลับ 1% จากเดิมไม่ระบุ ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) 2% จากเดิมไม่ระบุ และ พลังงานนิวเคลียร์ 1% จากเดิมไม่ระบุ

ทั้งนี้ จากการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ตามร่างแผนพีดีพีดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อสิ้นปี 2580 ลงเหลือราว 60 ล้านตัน จากปี 2566 ภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 37% หรือประมาณ 90 ล้านตันต่อปี

สัดส่วนดังกล่าวนี้ เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ถึง 65% หรือราว 58 ล้านตัน ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหิน / ลิกไนต์ มีสัดส่วน 34% หรือประมาณ 30.8 ล้านตัน และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูป มีสัดส่วน 1% หรือราว 0.8 ล้านตัน