energy
2.1 k

เปิดผลงาน "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" นั่งซีอีโอปตท. 4 ปี สร้างกำไรกว่าแสนล้าน

    เปิดผลงาน "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" นั่งซีอีโอปตท. 4 ปี สร้างกำไรกว่าแสนล้าน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการทำงานผ่านกลยุทธ์ PTT by PTT ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้แล้วที่นี่ พร้อมคว้ารางวัลซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย 3 ปีติด

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนปัจจุบันกำลังจะครบวาระการทำงาน 4 ปี วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 

เกือบ 4 ปีที่นายอรรถพลอยู่ในตำแหน่ง "ซีอีโอ ปตท." ได้ฝากผลงานไว้มากมายในการขับเคลื่อนองค์กร

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปย้อนชมผลงานเด่นของนายอรรถพลที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

กลยุทธ์ PTT by PTT

นายอรรถพล เริ่มทำงานในตำแหน่งซีอีโอปตท. ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวิสัยทัศน์ในการทำงานผ่านกลยุทธ์ PTT by PTT ซึ่งมาจาก P : partnership and platform ,T : technology for all และT : transparency and sustainability เพื่อต่อยอด พัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง ตามทิศทางโลก 6 ด้าน ประกอบด้วย
 

  • New Energy ธุรกิจด้านพลังงานใหม่
  • Life Sciences ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์
  • Mobility & Lifestyle ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์ เริ่มจากสถานีน้ำมัน จะต้องไม่ใช่สถานที่ที่เติมน้ำมันอีกต่อไปเพียงอย่างเดียว
  • High Value Business การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้สามารถสร้างมูลค่าสูง
  • Logistics โลจิสติกส์ สร้างธุรกิจใหม่ของปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ให้ความสำคัญกับธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Commerce มากยิ่งขึ้น จากธุรกิจแบบ Business-to-Business (B2B) ต่อยอดธุรกิจ Business-to-Customer (B2C)
  • AI & Robotics การพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติ

เปิดผลงาน "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" นั่งซีอีโอปตท. 4 ปี สร้างกำไรกว่าแสนล้าน

สร้างกำไรโตแตะแสนล้าน 

สำหรับผลงานในการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท. ทางด้านรายได้ นายอรรถพลก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม  โดยทำให้ ปตท. เพิ่มกำไรสุทธิจากปี 2563 อยู่ที่ 37,766 ล้าน เป็น 108,363 ล้านบาท ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 70,597 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากในปี 2563

นอกจากนี้นายอรรถพล ยังได้เริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ Powering life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
 

อีกทั้งยังเดินหน้าเข้าสู่ Life Science ธุรกิจผลิตยาและสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงโครงการเพื่อสังคมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ที่ผ่านมา ที่ช่วยบรรเทาวิกฤตของประเทศในโครงการลมหายใจเดียวกัน ที่ช่วยสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศ 

เปิดผลงาน "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" นั่งซีอีโอปตท. 4 ปี สร้างกำไรกว่าแสนล้าน

โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ในการช่วยเหลือเยาวชนกว่า 60,000 คน ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา และโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม ยกระดับการเกษตรควบคู่กับพัฒนาสินค้าชุมชนและช่องทางผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

รางวัลแห่งความเป็นเลิศ

นอกจากนี้ภายใต้การนำองค์กรของนายอรรถพล ทำให้ ปตท. คว้ารางวัลแห่งความเป็นเลิศในทุกประเภทรวม 7 รางวัลในปี 2566 ประกอบด้วย

  • รางวัลซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CEO) 
  • รางวัลซีเอฟโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CFO) 
  • รางวัลซีเอสอาร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CSR) 
  • รางวัลนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Professional) 
  • รางวัลความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Environmental Responsibility) 
  • รางวัลบริษัทนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม (Best Investor Relations Company) 
  • รางวัลสื่อสารองค์กรยอดเยี่ยม (Best Corporate Communications) เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนศักยภาพการบริหารงานอย่างมืออาชีพในด้านการสื่อสารที่เป็นเลิศ

โดยรางวัลดังกล่าว นิตยสาร Corporate Governance Asia ได้พิจารณาจากข้อมูลองค์กรร่วมกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั่วภูมิภาคเอเชีย

นายอรรถพล ถือว่าคว้ารางวัลซีอีโอยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Asia’s Best CEO)  ต่อเนื่อง 3 ปีติด ในฐานะสุดยอดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ กลยุทธ์ที่แข็งแกร่งและบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการดูแลรับผิดชอบชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในระดับดีเยี่ยม พร้อมได้รับความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับสากล

อีกทั้งนายอรรถพลยังได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรแห่งปี 2023 สาขาอุตสาหกรรมพลังงาน จากนิตยสาร BUSINESS+ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ ซึ่งรางวัลดังกล่าว เป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงคุณค่าเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความโดดเด่นในแต่ละอุตสาหกรรม สะท้อนศักยภาพผู้นำที่สร้างความผูกพันในองค์กร ดำเนินธุรกิจและบริหารองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยหลักธรรมาภิบาล อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไป

นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

บทบาทภายนอกองค์กรขอนายอรรถพลเองก็ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อนายอรรถพลซึ่งเป็นอดีตนิสิตจุฬาฯ รุ่น CU2527 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา ได้รับเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) ประจำปี 2566 – 2568 ซึ่งถือเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ คนที่ 33 โดยประกาศจะมุ่งตั้งใจทำให้ให้จุฬาฯ ทุกวัยได้ร่วมกันแสดงออกซึ่งความรักในสถาบัน โดยจะผสานกันเป็นเนื้อเดียวเพื่อให้จุฬาฯ ยังคงเป็นที่ยอมรับของทุกคนในสังคมไม่ใช่เพียงแค่ในหมู่นิสิตเก่าเท่านั้น อันจะทำให้จุฬาฯ ยืนหนึ่งได้อย่างยั่งยืนต่อไป