"อากาศร้อนจัด" ดัน "ไฟพีก" เดือนเดียว 7 รอบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,356 เมกฯ

29 เม.ย. 2567 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2567 | 09:46 น.

"อากาศร้อนจัด" ดัน "ไฟพีก" เดือนเดียว 7 รอบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,356 เมกฯ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้หมดแล้ว สนพ. ประเมินปี 67 มีแนวโน้มการใช้ไฟอยู่ที่ 210,170 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

อากาศร้อนจัดทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นจำนวนมาก เพื่อบรรเทาความร้อน ซึ่งนำมาสู่ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือไฟพีก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 20.51 น. เกิดเหตุการณ์ไฟพีกในระบบทั้ง 3 การไฟฟ้ามีค่าเท่ากับ 36,356.1 เมกะวัตต์ ซึ่งทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ (System Peak) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 20.58 น. มีค่าเท่ากับ 35,830 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ก่อนหน้านี้มีไฟพีกเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้งภายในเดือนเมษายน ประกอบด้วย

  • วันที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. มีค่าเท่ากับ 33,340.1 เมกะวัตต์
  • วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 20.51 น. มีค่าเท่ากับ 33,827.1 เมกะวัตต์

"อากาศร้อนจัด" ดัน "ไฟพีก" เดือนเดียว 7 รอบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,356 เมกฯ

  • วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. มีค่าเท่ากับ 34,196.5 เมกะวัตต์
  • วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 22.22 น. มีค่าเท่ากับ 34,277.4 เมกะวัตต์
  • วันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์
  • วันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 20.58 น. มีค่าเท่ากับ 35,830 เมกะวัตต์

สำหรับไฟพีกครั้งแรกของปี 2567 ที่เกิน 30,000 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.26 น. มีค่าเท่ากับ 30,849.90 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมมา 1,997.90 เมกะวัตต์ 
 

และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19.47 น. มีค่าเท่ากับ 32,704 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากไฟพีกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประมาณ 1,854 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม จากประมาณการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานชาติ (สนพ.) คาดว่า ค่าไฟพีกสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 35,000-36,000 เมกะวัตต์ รวมถึงประเมินว่า ปี 2567 จะมีแนวโน้มการใช้ไฟอยู่ที่ 210,170 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (GWh) หรือเพิ่มขึ้น 3.1% จากปี 2566