เปิด 4 แนวทางรอดกองทุนน้ำมันฯ หลัง "ตรึงราคาดีเซล" ติดลบพุ่งเฉียดแสนล้าน

03 เม.ย. 2567 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2567 | 11:46 น.

เปิด 4 แนวทางรอดกองทุนน้ำมันฯ หลัง "ตรึงราคาดีเซล" ติดลบพุ่งเฉียดแสนล้าน ขออนุมัติต่อมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1-2 บาทต่อลิตร รวม 3 เดือน ขออนุมัติงบประมาณกลาง ลดการชดเชย และขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

"ราคาน้ำมันดีเซล" ยกเลิกการตรึงราคาไว้ที่ 30 บาท หลังจากวันที่ 2 เม.ย. 67 เป็นต้นมา หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป  

โดยการดำเนินการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซล กบน. จะพิจารณาถึงข้อมูลต่างๆ ตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมันมากจนเกินไป ซึ่งในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2567 ยังไม่มีการดำเนินการ

อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด (Shell) ประกาศปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นเป็น 30.49 บาทต่อลิตร สูงกว่าปั๊มอื่นประมาณ 0.50 บาทต่อลิตรเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.)

ด้านรัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะหาแนวทางในการทำให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนลิตรละ 4.17 บาท ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเดือนละ 8,700 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 24 มี.ค.2567 ติดลบ 98,220 ล้านบาทแบ่งเป็น

  • บัญชีน้ำมันติดลบ 51,136 ล้านบาท 
  • ก๊าซ LPG ติดลบ 47,084 ล้านบาท

เปิด 4 แนวทางรอดกองทุนน้ำมันฯ หลัง "ตรึงราคาดีเซล" ติดลบพุ่งเฉียดแสนล้าน

รวมทั้งดีเซลยังได้รับการอุดหนุนผ่านการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1 บาท รวม 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 19 เม.ย.2567

ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบใกล้ 100,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระหนี้มากเกินไป รวมทั้งรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของกองทุนน้ำมันฯ ทำให้กระทรวงพลังงานจะหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนพร้อมกับการลดภาระกองทุนน้ำมันฯ
 

สำหรับทางรอดของกองทุนฯ ในปัจจุบันมี 4 แนวทาง ประกอบด้วย 

  • ขออนุมัติต่อมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1-2 บาทต่อลิตร รวม 3 เดือน  โดยกรณีลดลิตรละ 1 บาท ทำให้รัฐเสียรายได้ 6,000 ล้านบาท 
  • ขออนุมัติงบประมาณกลางเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ในการอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม
  • ลดการชดเชยราคาดีเซล เพื่อเพิ่มเพดานราคาให้สูงเกินลิตรละ 30 บาท โดยทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาดเป็นลิตรละ 31-32 บาท
  • ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม จากเดิมที่กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ภายใน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค.2566 ซึ่งปัจจุบันกู้ไป 105,333 ล้านบาท เพื่อชำระให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท

โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ธนาคารรัฐ 3 แห่ง และเบิกเงินเข้าบัญชีครบแล้วตามกรอบวงเงินอนุมัติกู้ ดังนั้น หากกองทุนน้ำมันฯ จะกู้เงินอีกจะต้องกลับไปใช้มาตรา 26 ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง