energy

โรงไฟฟ้าขยะชุมชน อีกทางเลือก ช่วยลดโลกร้อน

    เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะฝังกลบเป็นเชื้อเพลิง ของบริษัท สยามพาวเวอร์ ตั้งอยู่ที่ ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อให้ผู้อบรมหลักสูตร Energy Transition and Climate Change Management หรือ ETC รุ่นที่ 5 จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายสุชาติ จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สยามพาวเวอร์ จำกัด (SP) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง 8 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 18 ปี โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564  อัตราการใช้เชื้อเพลิงขยะ 300-350 ตันต่อวัน หรือประมาณ 1.2 แสนตันต่อปี  ซึ่งมาจากบ่อขยะฝังกลบที่บริษัทได้รับสัมปทานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ที่มีปริมาณขยะสะสมอยู่ 3.8 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอที่จะส่งป้อนเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุสัญญา

โรงไฟฟ้าขยะชุมชน อีกทางเลือก ช่วยลดโลกร้อน

โรงไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง มาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมที่ อบจ.นนทบุรี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (CFB) มีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (Flue Gas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง (CEMs) เพื่อทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการใช้เชื้อเพิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้า

บริษัท มีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในปีนี้อีก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์ 2 (SP2) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยามพาวเวอร์ 3 (SP3) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อายุสัญญา 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายในเดือนมีนาคม 2567

โรงไฟฟ้าขยะทั้ง 2 โครงการนี้เป็นระบบเชื้อเพลิงขยะสดจะไม่มีโรงคัดแยกขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีนี้ โดยมีกำหนดเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 คาดว่าใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 4,000 ล้านบาท ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้ารวมการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทต่อหน่วย สำหรับ 12 ปีถัดไป คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับสยามพาวเวอร์ปีละประมาณ 400- 500 ล้านบาท ส่วนปริมาณขยะที่จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งที่อยู่พื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย และพื้นที่ของตำบลนากลางนั้นคาดว่าจะมีปริมาณขยะแห่งละประมาณ 500 ตันต่อวัน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนขยายลงทุนอีกประมาณ 3-4 โครงการ ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขณะนี้อยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ ส่วนรูปแบบโครงการเป็นรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) ซึ่งการขยายงานของบริษัท จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศได้ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์