บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยทิศทาง “Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” โดยมีเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050
ภายใต้การขับเคลื่อนที่จะไม่เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่จะมุ่งขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ภายในปีค.ศ. 2030 รวมถึงส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว (Green Energy)
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2567 นี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดสรรเงินลงทุนไว้ราว 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจตามกลยุทธ์ที่วางไว้ในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตแล้วราว 1,440 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 21% จากกำลังผลิตทั้งหมด 6,996 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาและปิดดีลของแต่ละโครงการด้วย
สำหรับการขยายงานในปีนี้ จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย หลังจากที่ EGCO Group ได้เข้าไปซื้อหุ้น 30% ในบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (CDI) บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในเครือบริษัท พีที จันทรา อศรี แปซิฟิก ทีบีเค (CAP) ผู้นำในธุรกิจเคมีและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าการลงทุน 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,800 ล้านบาท เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ EGCO Group ร่วมเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีศักยภาพในประเทศอินโดนีเซีย
ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 147 เมกะวัตต์ โรงงานผลิตและบำบัดนํ้า รวมทั้งท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ยาก เพราะข้อจำกัดด้านใบอนุญาตและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่สูง
จากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในปี 2573 ขึ้นไปที่ 25% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 200 เมกะวัตต์ รวมถึงการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ลอยนํ้า กำลังผลิตรวม 80 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเหล็กที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน ที่ถือหุ้นอยู่ 26.56% ให้ครบทั้ง 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 จากปัจจุบันติดตั้งเสากังหัน (Monopile) ไปแล้ว 45 ต้น ในจำนวนนี้ได้ติดตั้งใบพัดกังหันแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว 33 ต้น กำลังผลิตไฟฟ้า 264 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการค่อนข้างดีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า (capacity factor) สูงสุดถึง 80% ในฤดูมรสุม และมี capacity factor เฉลี่ยมากกว่า 40%
รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่ EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 17.46% ซึ่งปีนี้มีแผนจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ได้ 1,106 เมกะวัตต์ จากโครงการที่มีอยู่ในไปป์ไลน์รวม 238 โครงการ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่ รวมกำลังผลิต 60,543 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน APEX อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 7 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,035 เมกะวัตต์ จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2567-2568 และมีโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ ซึ่งการดำเนินงานของ APEX จะเป็นทั้งในลักษณะไฮบริด คือ ขายโครงการออกไปบางส่วน และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้วเองบางส่วน ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาจองโครงการพลังงานหมุนเวียนของ APEX เป็นจำนวนมาก และ EGCO Group ก็พิจารณาโอกาสที่จะเข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าวเข้ามาอยู่ในพอร์ตด้วย
ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรดไอแลนด์ สเตท เอ็นเนอร์ยี่ เซ็นเตอร์ แอลพี (RISEC) กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 49% ถือเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และรองรับไฟฟ้าสีเขียวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม เช่น แบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน หรือการใช้ไฮโดรเจนผสมร่วมกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่เดิม เป็นต้น
เช่นเดียวกับกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 50% อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ที่ยังมีโอกาสลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการใช้ไฮโดรเจนหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนตํ่าเป็นทางเลือกผลิตไฟฟ้า
นอกจากนั้น ล่าสุดโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จังหวัดระยอง ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้น 80% ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สามารถลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยลง 15% จากที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) 10% ในปี 2573 และขยับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2583 ตลอดจนบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593
ข่าวที่เกี่ยวข้อง