"กฟผ."โต้ปลูกป่าล้านไร่จริง ไม่ปลูกทิพย์ ยันตรวจสอบได้

20 ก.พ. 2567 | 14:28 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2567 | 14:28 น.

"กฟผ."โต้ปลูกป่าล้านไร่จริง ไม่ปลูกทิพย์ ยันตรวจสอบได้ มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบสนองนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศ ระบุปี65 –66 ปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่ 

หลังเกิดกรณีกระแสข่าวการปลูกป่าทิพย์ ทุจริตงบ CSR ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการของปีงบประมาณ 2565 ส่อทุจริต มีต้นไม้เฉพาะด้านหน้า ไม่เป็นไปตาม TOR กรรมการตรวจรับไม่ให้ผ่านถึง 3 ครั้ง กลับถูกกลั่นแกล้งย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น แล้วรีบตั้งกรรมการตรวจรับชุดใหม่ให้โครงการผ่านทุกพื้นที่ 

ต่อกรณีดังกล่าวนายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ. เปิดเผยถึงโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วยการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า (200 ต้นต่อไร่) 

เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบสนองนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศ โดยในช่วงปี 2565 – 2566 สามารถดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าคิดเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่ 

ซึ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมปลูกป่าแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการทำสัญญาจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เกิดความหวงแหนป่า และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่

"กฟผ."โต้ปลูกป่าล้านไร่จริง ไม่ปลูกทิพย์ ยันตรวจสอบได้

สำหรับการคัดเลือกประชาชนในพื้นที่มาเป็นผู้รับจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าในโครงการนี้ดำเนินการผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน และกรมที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะออกหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญในการปลูกและบำรุงรักษาป่าของผู้รับจ้าง กฟผ. จึงจะลงนามสัญญาจ้างบุคคลดังกล่าวได้ จากนั้นผู้รับจ้างก็ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าตามรายละเอียดที่กำหนดในเงื่อนไขงานจ้าง

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจรับงานปลูกและบำรุงรักษาป่าจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลพิกัดพื้นที่และเอกสารประกอบการตรวจรับงานจ้าง พร้อมประสานนัดหมายผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อตรวจรับงานทุกครั้งต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ร่วมกันลงพื้นที่ ดังนี้

  • หน่วยงานกรมเจ้าของพื้นที่ (เจ้าหน้าที่ประจำแปลงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมฯ ที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่)
  • ผู้รับจ้าง (คู่สัญญา) ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่
  • ผู้แทน กฟผ. (กรรมการตรวจรับ และทีมสนับสนุนการตรวจรับ)

โดยการตรวจรับงานเป็นการสุ่มตรวจในพื้นที่ดำเนินการปลูกหรือบำรุงรักษาป่าทุกแปลงจำนวนไม่น้อยกว่า 1% ของพื้นที่ พร้อมสุ่มตรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่า 85% ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย 

และสอดคล้องกับแนวทางการตรวจแปลงสำรวจและเก็บข้อมูลโครงการประเภทป่าไม้ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งการเบิกจ่ายค่าจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าจะจ่ายตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยจ่ายตรงกับประชาชนที่เป็นคู่สัญญากับ กฟผ. หากพื้นที่ใดไม่มีการปลูกป่าจริงก็จะถูกยกเลิกสัญญา 

"กฟผ. ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตลอดมา โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงพร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สำหรับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา กฟผ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน"