นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงกรณีข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยว่า หากมองการดำเนินตามโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาท
ทั้งนี้ เมื่อปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติจึงขยับมาที่ระดับ 4.20 บาท อีกทั้งงวดปัจจุบันมีเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาทเข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาท ดังนั้น งวดที่ 2 จะไม่มีเงินดังกล่าวตรงนี้ และจะขึ้นอยู่กับว่าก๊าซในอ่าวไทยจะทำได้เท่าไหร่ รวมถึงก๊าซฯ จากพม่าจะหายหรือไม่ ดังนั้น หากยืนเงื่อนไขตามงวดปัจจุบันต้นทุนจะอยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย
"ราคา 3 บาทกว่าตามข้อเสนอของเอกชนคงยาก เพราะรื้อจนไม่รู้จะรื้ออย่างไรแล้ว คงต้องมีผู้ที่ขาดทุน โดยนโยบายคือการให้อยู่ร่วมกัน หากเทียบการใช้ไฟของคนกทม. กับต่างจังหวัด ซึ่งคนต่างจังหวัดมีตันทุนในการเดินสายไฟ จะยอมแยกประเภทหรือไม่ เพื่อให้คนกทม.จ่ายถูกกว่า หากนโยบายรัฐจะดึงความเท่าเทียมให้ยังอยู่ เป็นต้น ซึ่งต้องเรียนว่าค่าไฟจะแพงหรือถูกแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ต้องดูทรัพยากรว่ามีหรือไม่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิง ถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าด้วยซ้ำ"
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนหากได้คืนมาได้ ก็จะทำให้ได้ 4.20 บาท งวดหน้าไม่มี Shortfall หากก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณมา พม่าไม่ลด LNG ราคาระดับปัจจุบัน 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็พอจะดึงมาได้บ้าง แต่ต้องดูว่าจะได้จริงเท่าไหร่ จะคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่าไหร่
ดังนั้น ต้องมาดูนโยบายและหารือตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และจะมีนโยบายใดออกมาสนับสนุน เพราะจากโครงสร้างดังกล่าว ต้นทุนอยู่ที่ระดับ 4.20 บาทแล้ว
ส่วนคำถามที่มองว่าช่วงนี้ราคานำเข้า LNG ถูกลง เหตุใดไม่รีบเก็บสต็อก ปัญหาคือ ประเทศไทยมีถังเก็บไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีแค่ 4 ถัง ซึ่งช่วงที่ขาดก๊าซ 3 วัน หมดไป 1 ถัง โดยปีที่ผ่านมานำเข้าเฉพาะ LNG spot อย่างเดียวกว่า 90 ลำ โดยคาดว่าปี 2567 ตัวเลขจะใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่รวมสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวอีก 55 ล้านตัน
นายคมกฤช กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 67 ด้วยว่า จากโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติปัจจุบันนี้ ถือว่าไม่ใช่อำนาจของสำนักงาน กกพ. เนื่องจากเป็นทรัพยากรณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายที่ไม่ใช่เฉพาะใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวแล้ว จึงเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ดังนั้น มาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล
"ครม.ให้อิงราคาโครงสร้างนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าโครงสร้างราคาก๊าซฯ มีการคุยกันมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้าครม. ดังนั้น การปรับราคาค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 67 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยครั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีความเป็นห่วงทั้งเรื่องราคา LNG spot และจะต้องดูว่าปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ปัจจุบันตัวเลขก็ยังไม่ชัดเจน จึงได้คำนวณปริมาณไว้ที่ 30% เพื่อไม่ให้กระทบ แล้วใช้วิธีคำนวนเชื้อเพลิงอื่น ๆ มาที่ 70%"
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน ราคานำเข้า LNG ขณะนี้อยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มลดลง จะทำให้ต้นทุนอื่นต่ำกว่าที่ประมาณการ และกฟผ. ก็จะได้เงินคืนด้วย ดังนั้น หากยืนราคานี้ในระยะยาวจะทำให้กฟผ. ได้เงินคืนซึ่งอาจจะเอาไปหักกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ที่ยังไม่ได้เอาตัวเลขมากบวกลบ จึงทำให้หนี้คงค้างยังไม่ได้รับคืนอยู่ที่ 95,777 ล้านบาท
"ครม.ให้ไปศึกษาทั้งต้นทุน ปริมาณก๊าซฯ ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และภาระที่ต้องคืนกฟผ.ด้วย จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ดังนั้น ตัวเลขภาระกฟผ. งวดก.ย.-ธ.ค. 2566 น่าจะออกช่วงเดือนมี.ค. นี้ หากดูเบื้องต้นน่าจะอยู่หลักหมื่นล้าน อาจจะส่งผลให้ภาระที่กฟผ. จะต้องรับสะสมในระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากที่กฟผ. เคยรับภาระสูงสุดที่ 150,268 ล้านบาท ในงวดก.ย.-ธ.ค.2565"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง