นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะผู้บริหารองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดิอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) ว่า ได้หารือกับนายซาอูด บิน ราชิด อัล อัสการ์ รองผู้อำนวยการองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือ SASO
โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่าการค้าของไทยกับซาอุดิอาระเบียได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 23% ใกล้แตะมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ตนจึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือในเชิงเทคนิคระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารจาก SASO มาเยือนไทยเพื่อขับเคลื่อนในเชิงรุกกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยเริ่มต้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเป็นหมุดหมายแรกแห่งความร่วมมือ"
นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ SASO สนับสนุนการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยสินค้าฮาลาลของไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในด้านการค้าคือ การยอมรับผลการตรวจสอบรับรองและเครื่องหมายรับรอง
ซึ่งมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังซาอุดิอาระเบีย ถือว่ายังมีมูลค่าน้อยและมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึง 1% ของมูลค่าการนำเข้าของซาอุดิอาระเบีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก หากมีการยกระดับความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างกัน
"การผลักดันอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ซาอุดิอาระเบียนับเป็นตลาดฮาลาลที่ใหญ่ จึงเริ่มต้นก่อน และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปถึงพหุภูมิภาคอื่นด้วย”
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ.ได้เตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งในด้านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
รวมถึงโอกาสในการเพิ่มการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน อาทิ หน่วยตรวจรับรองที่มีความพร้อมในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลตามกระบวนการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผู้ตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่เชี่ยวชาญตามกระบวนการตรวจสอบตามระบบ ISO/IEC 17020
และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีทักษะในการพัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานฮาลาลตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับงานด้านการมาตรฐานฮาลาลของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดมุสลิมโลก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง