เหตุค่าไฟแพง รัฐเบรคนำเข้า LNG ระยะยาว กฟผ.-ปตท.แบกภาระ

10 ม.ค. 2567 | 12:36 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 12:44 น.
586

ค่าครองชีพที่เกิดจากค่าไฟฟ้าแพง ยังเป็นประเด็นข้อถกเถียง ถึงปัญหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นจากอะไรแน่

นับตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวมาตลอดว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริง และ เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้สั่งการแก้ไขโครงสร้างการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยใหม่ เพื่อให้การจัดสรรก๊าซเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยจะปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas จากเดิมอยู่ที่ 387 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงมาเหลือ 362 บาทต่อล้านบีทียู ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง จะเป็นราคาก๊าซที่เท่ากับราคาในอ่าวไทยที่ 219 บาทต่อล้านบีทียู โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดปตท.ในวันที่ 12 มกราคม 2567 นี้

แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกราย ใช้ก๊าซได้ในราคาที่ถูกลง ยกเว้นโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงมกราคม-เมษายน 2567 ประมาณ 10,921 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าในรอบเดือนดังกล่าว ลดลงได้อีกราว 11.50 สตางค์ต่อหน่วย จากที่มีการนำเสนอราว 4.20 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง คงต้องมองย้อนกลับไปถึงการนำระบบสัญญาแบบปันผลผลิต (PSC) มาใช้แทนระบบสัญญาสัมปทานของแหล่งก๊าซในอ่าวไทย อย่างแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 และแหล่งบงกชสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 และเปิดให้มีการประมูลใหม่ โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.อีดี ชนะการประมูลไปทั้ง 2 แหล่ง

เหตุค่าไฟแพง รัฐเบรคนำเข้า LNG ระยะยาว กฟผ.-ปตท.แบกภาระ

เมื่อแหล่งก๊าซเอราวัณสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและเปลี่ยนมือผู้ดำเนินงานใหม่ ไม่สามารถผลิตก๊าซขึ้นมาได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากช่วงปลายสัญญาสัมปทาน กำลังการผลิตก๊าซลดลงตามโครงสร้างธรณีวิทยาของแหล่ง

ที่เหลืออยู่เป็นกระเปาะเล็ก ๆ กระจัดกระจาย ทำให้ผู้ผลิตรายเดิมอย่างเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ลดการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่ม และโฟกัสที่การเตรียมพร้อมต่าง ๆ เพื่อการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินงานอย่างปลอดภัย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซลดลงเหลือ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และลดลงเหลือเฉลี่ยทั้งเดือนพฤษภาคม 2565 หลังการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินงาน ที่ปริมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และผู้ดำเนินงานใหม่อย่างปตท.สผ.อีดี ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหลังเข้าพื้นที่ ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566

ปัญหาการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ที่มีปริมาณการผลิตลดลงนั้น ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายทั้งรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึง กพช. ในขณะนั้น รับทราบมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2562 ว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมแพ้การประมูลจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม และจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการพิจารณาทางออกและเลือกตัดสินใจที่จะจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทนในส่วนก๊าซที่หายไป ขณะนั้นในช่วงปี 2563 ราคาก๊าซแอลเอ็นจีรูปแบบ Spot มีราคาตํ่ากว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู มีการนำเข้าอยู่ราว 5 แสนตัน

เมื่อเข้าสู่ปี 2564 รัฐบาลมีนโยบายที่จะเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ โดยวันที่ 1 เมษายน 2564 กพช. มีมติยกเลิกหลักเกณฑ์การจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาวของปตท. เพื่อให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน และอนุมัติให้เอกชน 7 ราย หรือ Shipper เป็นผู้จัดหาแทนทั้งสัญญาระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้โควตา ปี 2564 ในปริมาณ 0.48 ล้านตัน ปี 2565 เพิ่มเป็น 1.74 ล้านตัน และปี 2566 เพิ่มเป็น 3.02 ล้านต้น

กลางปี 2564 ราคาก๊าซแอลเอ็นจีเริ่มเป็นช่วงขาขึ้น จากระดับ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ปตท. ได้ขอภาครัฐในการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว เพื่อให้ได้ราคาแอลเอ็นจีในระดับคงที่ ไม่ผันผวนเหมือนสัญญาในรูปแบบ Spot แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะต้องไปแบ่งโควต้าให้เอกชนทั้ง 7 รายนำเข้าก่อน

ในที่สุดปลายปี 2564 ราคาแอลเอ็นจีรูปแบบ Spot ขยับไปที่ระดับ 31 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และต้นปี 2565 ที่ระดับ 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากเหตุการสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ไม่มีเอกชนรายใดนำก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามา เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าราคา Pool Gasที่ ปตท. เป็นผู้จัดหา หาก Shipper นำเข้าแอลเอ็นจีมาใช้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนราคาที่สูงขึ้นเอง

สุดท้ายโควตานำเข้าแอลเอ็นจีในรูปแบบ Spot จึงถูกโยกมาให้ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้นำเข้า และได้ปรับแผนการนำเข้ารูปแบบ Spot เป็นปี 2565 ที่ 4.5 ล้านตัน ปี 2566 ที่ 5.2 ล้านตัน และปี 2567 ที่ 5.0 ล้านตัน การดำเนินงานของภาครัฐดังกล่าว จึงถือเป็นการพลาดโอกาสที่ประเทศจะจัดซื้อก๊าซหรือจัดหาก๊าซสัญญาระยะยาวในราคาถูกไว้

หากฝ่ายนโยบายมีการบริหารจัดการให้มีการนำเข้าแอลเอ็นจีในช่วงที่ยังราคาตํ่า ที่เป็นสัญญาระยะยาว เอาไว้ล่วงหน้า วันนี้คงไม่ต้องเจอค่าไฟฟ้าแพงเช่นปัจจุบัน และต้องมารื้อโครงสร้างบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยกันใหม่ โดยมี ปตท. เข้ามาร่วมแบกรับภาระราว 10,921 ล้านบาทในการลดค่าไฟฟ้าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 นี้ และ กฟผ. แบกรับค่าเชื้อเพลิง หรือ เอฟที สะสมตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงรอบปัจจุบัน ราว 137,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำไปทยอยคิดบวกรวมในค่าไฟฟ้างวดต่อ ๆ ไป ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายคืน บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ กฟผ.ไปกู้มาดำเนินการตามนโยบายรัฐ เท่ากับว่าประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ลดลง แต่ภาระก็จะไปเพิ่มขึ้นในอนาคตอยู่ดีที่ประชาชนต้องแบกรับเอาไว้ในที่สุด