"พาณิชย์"จ่อฟันผู้ค้าเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร 2 ครั้ง สั่งหยุดหัวจ่าย

25 ธ.ค. 2566 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 15:54 น.
558

"พาณิชย์"จ่อฟันผู้ค้าเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร 2 ครั้ง สั่งหยุดหัวจ่าย หลังกรมการค้าภายในหารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตร 7 ลงมติร่วมกันในการตั้งค่าหัวจ่ายให้จ่ายน้ำมันมากกว่า 0

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้แก่ ปตท. ,บางจาก , พีที, เอสโซ่, ทีพีไอ ,ซัสโก้ ,เชลล์ ,คาลเท็กซ์ และพี โอ ออยล์ เพื่อกำชับให้เข้มงวดตรวจสอบหัวจ่ายสถานีบริการน้ำมัน ว่า ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการตั้งค่าหัวจ่ายให้จ่ายน้ำมันมากกว่า 0

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการที่สมัครใจร่วมกัน หลังจากเกิดกรณีดรามา เติมน้ำมันได้ไม่เต็มลิตร และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมหารือร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด

สำหรับการตรวจสอบรับรองหัวจ่ายน้ำมันนั้น เดิมทีจะมีการตรวจทุก 2 ปี และมีการตั้งค่าอยู่ที่ 0 และในระหว่าง 2 ปี จะมีการตรวจสอบหัวจ่ายเป็นประจำ ตามรอบที่กำหนด และตรวจพิเศษในช่วงเทศกาล 

"พาณิชย์"จ่อฟันผู้ค้าเติมน้ำมันไม่เต็มลิตร 2 ครั้ง สั่งหยุดหัวจ่าย

อย่างไรก็ดี จากนี้จะมีการตั้งค่าให้บวกขึ้นจาก 0 มาเล็กน้อย หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบซ้ำ หากตรวจแล้ว จ่ายน้ำมันเกินจะถือว่าปกติ แต่ถ้าจ่ายน้ำมันขาด ติดต่อกัน 2 ครั้ง แม้จะอยู่ในค่ามาตรฐาน บวกลบไม่เกิน 1% ก็จะสั่งให้หยุดการใช้หัวจ่าย ต้องปรับปรุงให้ถูกต้อง และต้องตรวจรับรองใหม่

“ที่ผ่านมาในการตรวจรับรองหัวจ่ายน้ำมัน จะมีการตั้งค่าไว้ที่ 0 และมีการซีลหัวจ่าย ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถแกะออกได้ ถ้าชำรุด หรือแกะออก จะมีความผิด แต่ตู้หัวจ่าย เป็นเครื่องจักร แม้ตอนไปตรวจ พบว่า จ่ายน้ำมันเต็ม ไม่มีขาด แต่พอใช้ไปนาน ๆ อาจจะมีความเสื่อมของเครื่องจักร ทำให้จ่ายน้ำมันได้ขาดไปบ้าง และที่ขาดไป ก็ไม่ได้ลดกว่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หลังจากหารือกันแล้ว ผู้ประกอบการยินดีที่จะตั้งค่าให้เกินกว่า 0 เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก”

นายวัฒนศักย์ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ค่าความคาดเคลื่อนที่สามารถยอมรับได้ตามกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง ที่กำหนดไว้ที่บวกลบไม่เกิน 1% นั้น

จะมีการพิจารณาว่าควรจะปรับอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการชั่งตวงวัด ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน จะมีการพิจารณาก่อน