นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2023 หัวข้อเรื่อง “Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน” ว่า ภาพของสถาบันการเงิน เป็นมือที่มองไม่เห็นในการสร้างดีมานด์และซัพพลาย เพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี ธนาคารพยายามสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง นั่นคือ ต้นทุนในการออกกรีนบอนด์ เพื่อมาปล่อยเป็นสินเชื่อกรีนให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงเรื่อยๆ
โดยสิ่งที่ธนาคารออกเมื่อต้นปีที่แล้ว เป็นกรีนบอนด์สำหรับเอสเอ็มอี มีหลักการ คือ เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ตุ้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในปี 2567 ธนาคารได้เตรียมพันธบัตรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือ บลูบอนด์ (Blue bond) เพื่อระดมทุนนำมาปล่อยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมอีก 5,000 ล้านบาท โดยจะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมรวมกว่า 45% จากปัจจุบันมีพอร์ตกรีนอยู่ 6.1 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท และธนาคารวางเป้าหมายว่าในปี 2571 จะมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 50%
ทั้งนี้ ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ ยกตัวอย่างเป็น กรรมเก่า กรรมดี ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง
โดยหากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ สามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO นอกจากกรรมเก่า และกรรมใหม่ที่ทำดีอยู่แล้ว จะต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ท ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่มีสีเขียว มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยให้เลย 0.25%
“สิ่งเหล่าเป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว ทุกวันนี้เราพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่ในโลกปัจจุบันเงินที่เป็นเงินสีเขียว หรือสีน้ำเงินก็ยังไม่ได้มากพอ ส่วนใหญ่เราจะคุ้นชินกับกรีนบอนด์ โดยการออกมาส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบระดมทุนในตลาด แต่สิ่งที่นำไปใช้ คือ การออกเป็นกรีนโลน หรือกรีนไฟแนนซ์ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายการเงินตลาดสีเขียวมากที่สุด ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง
ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย
“แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคลุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัพพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้งบลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่าทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง