"ปตท.สผ."รุก 3 แนวทางแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในงานประชุม COP28

11 ธ.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2566 | 13:38 น.

"ปตท.สผ."รุก 3 แนวทางแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในงานประชุม COP28 มุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 93 ปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมใกล้ศูนย์มากสุด และปล่อยก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ร่วมกับบริษัทด้านพลังงานจากทั่วโลกให้พันธสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil & Gas  Decarbonization Charter) 

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 12 ธันวาคม 2566 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

โดย ปตท.สผ. ได้ให้พันธสัญญาใน 3 เรื่องที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ 

,การปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด และการปล่อยก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) ภายในปี 2573 ตามกำหนดใน "Zero Routine Flaring by 2030" โดยเวิร์ลแบงก์ 

"ปตท.สผ."รุก 3 แนวทางแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในงานประชุม COP28

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าร่วมการประชุม Business & Philanthropy Climate Forum กับกว่า 500 ผู้นำองค์กรภาคธุรกิจและองค์กรด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ร่วมจัดแสดงข้อมูลภายในบูธ Thailand Pavilion ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 
 

โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซมีเทน การนำเทคโนโลยี Smart Forest Solution มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว รวมทั้ง การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต  

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้นำเสนอแนวคิดเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS (Carbon Capture, Utilization and Storage) ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน 

การริเริ่มนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงาน การพัฒนาพลังงานแห่งอนาคต เช่น ไฮโดรเจน รวมถึงการฟื้นฟูดูแลความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมอื่นของบริษัทเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก