นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) และ กรรมการบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครือสหพัฒน์บริหารงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ควบคู่การดำเนินธุรกิจ
โดยเฉพาะ “ด้านสิ่งแวดล้อม” จะดูแลทั้งกระบวนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ คำนึงถึงที่มาของวัตถุดิบ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานและการสื่อสาร เพื่อลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้หลัก Reduce-Reuse-Recycle เช่น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ในการทำบรรจุภัณฑ์ การใช้กระดาษรีไซเคิล และแยกขยะนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก
โรงงานผลิตของกลุ่มสหพัฒน์ในสวนอุตสาหกรรม ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี 7 โรงงาน ดำเนินการด้าน Green Economy Model โดยการชดเชยปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตสินค้าทั้งหมดให้เท่ากับศูนย์ ด้วยคาร์บอนเครดิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Grid Connected Solar PV) ที่ได้รับรองจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) และยังเป็นโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 : วัฒนธรรมสีเขียว ในปี 2562 ตามโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดำเนินการภายใต้ BCG Economy Model
โดยทุกโรงงานใช้พลังงานสะอาด ติดโซลาร์รูฟท็อป พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าระบบอัตโนมัติและเอไอมาใช้ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโรงงานให้ได้ 55% ในปี พ.ศ.2573 และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593
รวมถึงโรงงานในกรุงเทพฯ ซึ่งมีโรงงานและอาคาร 6 อาคาร ในส่วนของ ไทยวาโก้ ที่ปล่อยคาร์บอนอยู่ราว 4,000 ตันต่อปี ได้ตั้งเป้าหมายที่จะการปล่อนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแต่ละอาคาร ด้วยงบประมาณราว 10 ล้านบาทต่ออาคาร พยายามเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการศึกษาความเหมาะสม
บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ได้รับรองโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco Factory ปี 2560 และปี 2563 เป็นโรงงานที่มีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ หรือมีของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน มีการดำเนินการที่น่าเชื่อถือ และเกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือสังคมโดยรอบ
นางชุติมา ประเสริฐศรี ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายเด็ก อองฟองต์ ภายใต้แนวคิด "อองฟองต์รักลูกของคุณ รักโลกของเรา" ที่ผลิตโดย บริษัท ไทยวาโก้ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า เนื้อผ้าของอองฟองต์ เนื้อผ้านุ่ม จากการใช้นวัตกรรมการถักทอแบบนิตติ้งเพื่อให้เนื้อผ้าเกิดความยืดยุ่น วัตถุดิบที่ใช้เป้นวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติและย่อยสลายเองโดยธรรมชาติ ใช้คอตตอน ยูเอสเอ ซึ่งเป็นฝ้ายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้น้ำน้อย ไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อองฟองต์เริ่มใช้เส้นใยไผ่มาผสมกับตัวคอตตอนนานกว่า 15 ปี ใช้ใยไผ่ 60% ฝ้าย 40% ทำให้ผิวสัมผัสดีขึ้น นุ่มลื่น ใยไผ่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อย เนื้อผ้าถูกสุขอนามัย สีที่ฟอกและสีย้อม เลือกใช้สีที่ได้มาตรฐานสุงสุด ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และสารฟอร์มาลดีไฮด์ ปลอดสารโลหะหนัก โดยได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การผลิตตลอดจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์อองฟองต์ มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยหลักการ Reduce Reuse Recycle
รวมทั้งจัดทำระบบสต๊อกสินค้าและโลจิสติกส์ที่ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้ “กล่องกระดาษ” บรรจุสินค้าสำเร็จรูป และถูกนำกลับมาใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อลดปริมาณขยะ มีระบบ Eco-Logistic ระบบเติมเต็ม และบริหารจัดการสต๊อกสินค้า Sorter ระบบการคัดแยกที่รวดเร็ว เชื่อถือได้ และรองรับความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ระบบ Eco-Packaging กล่องกระดาษ/ ถุงพลาสติก ใช้จากวัสดุรีไซเคิล เสื้อผ้าเด็กอองฟองต์จะมีอายุการใช้งานยาวนาน คงทน คุ้มค่า คงทน
สำหรับ อองฟองต์ ใช้งบในการพัฒนาวิจัยนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ราว 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ และการสร้างโลกยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ยังลงทุนก่อสร้าง Eco Tower หออบผงซักฟอกขนาดใหญ่ทันสมัย และอาคารธรรมมงคล ซึ่งตั้งชื่อเพื่อรำลึกคุณูปการนายแพทย์มงคล ณ สงขลา ผู้ริเริ่มให้ไลอ้อนทำโครงการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีสู่สังคม โดยใช้งบราว 2,000 ล้านบาท เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2564
ทั้งนี้ภายใน 2-3 ปีนี้ เตรียมจะลงทุนขยายโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง บนเนื้อที่ 10 ไร่ ในส่วนของโชกุบุสซึครีมอาบ และไลปอน เอฟ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดและเป็นฐานการผลิตสำคัญในเอเชียมีกำลังการผลิตผงซักฟอก 6,000 หีบต่อวัน ควบคุมคุณภาพการผลิตด้วยพลังงานความร้อน พลังงานลม น้ำ และใช้ของเสียจากการผลิตให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด และยังลดการใช้พลาสติกด้วยช้อนตักผงซักฟอกจาก “ช้อนพลาสติก” เป็น "ช้อนกระดาษ" ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษ ทำให้ Recycle ได้แบบ 100% ตามธรรมชาติ และไม่ทิ้งสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เม็ดพลาสติกได้ถึง 10.8 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 20.3 ตันคาร์บอนต่อปี
การผลิตผงซักฟอก Essence ได้จัดทำโครงการ Wasted heat and Double Waste Heat เป็นการนำลมร้อนจาก Sulfonation Plant มาใช้ เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Model free adaptive control มาใช้ในการควบคุมการให้ความร้อนในหออบด้วยระบบอัตโนมัติ มีความแม่นยำสูง ช่วยลดอุณหภูมิที่ใช้ในการอบผงซักฟอกลงได้ 10 องศาเซนเซียส ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 240 ตันต่อปี
นอกจากนี้ จากโครงการการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนทั้งหมด ทำให้ผลิตผงซักฟอกได้มีคุณภาพและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,500 ตันต่อปี
โรงงานผลิตน้ำยาซักผ้าแบบแกลลอน ใช้สารประกอบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีเอนไซม์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาด ลดการใช้สารเคมี และมีการใช้ IDA (Industrial Data Analytics) เป็นแพลตฟอร์มการใช้พลังงานเทียบกับอัตราการผลิตมาวิเคราะห์ข้อมูลและประสิทธิผลการผลิตแบบเรียลไทม์ สามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 15% ต่อปี
การบรรจุน้ำยาซักผ้า ยังพัฒนาใช้พลาสติกในการผลิตแกลลอนให้เป็นแบบ Light Weight โดยใช้เม็ดพลาสติกลดลง 15 กรัมต่อชิ้น สามารถลดพื้นที่การทิ้งขยะได้จากการทับให้ยุบ ทั้งยังมีอักษรเบรลล์บนขวด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
กระบวนการบรรจุยังมีการนำ Pigging System มาใช้ โดยการทำงานของ Pigging จะทำการรีดน้ำยาที่ค้างท่อมาใช้ในการบรรจุ โดยไม่เกิดการสูญเสียผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าได้ 125 ตันต่อปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 17,910 KgCO2ต่อปี อีกทั้งยังสามารถลดการใช้ Steam จากการล้างไลน์ท่อ 23.7 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 5,130 KgCO2ต่อปี ลดปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดเทียบกับปี 2022 ได้ 48.2 ลูกบาศก์เมตร ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,200 KgCO2 ต่อปี
บริษัท ราชาอูชิโน่ จำกัด โรงงานผลิตผ้าขนหนู ที่สหพัฒน์ร่วมทุนกับบริษัท อูชิโน จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เลือกใช้เส้นใยไผ่ (Bamboo) เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพราะสะอาด นุ่มสบาย ซับน้ำได้ดี แห้งไว มีสุขอนามัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน โดยนายอาวุธ กฤษณานุวัตร ที่ปรึกษา ราชาอูชิโน่ กล่าวว่า ไผ่มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ได้มากกว่าต้นไม้ทั่วไป ถึง 4 เท่า และยังใช้สีจากธรรมชาติ ผ่านการอบ การเย็บ การติดแบรนด์บีเอสซี ทุกกระบวนจะผ่านเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน ขณะที่โรงงานมีการติดโซลาร์รูฟด้วยเช่นกัน
แนวทางลดคาร์บอนโรงงานในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์
-ปรับเปลี่ยนสู่โรงานสีเขียว
-ทยอยติดตั้งโซล่ารูฟ อาคารสำนักงาน และโรงงาน
-ลงทุน 2,000 ล้านบาท สร้าง Eco Tower หออบผงซักฟอก
-ลงทุนพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม
-เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-ใช้หลักการ Reduce, Reuse และ Recycle ในกระบวนการทำงาน
-เปลี่ยนช้อนตักผงซักฟอกจาก “ช้อนพลาสติก” เป็น "ช้อนกระดาษ" ลดการใช้เม็ดพลาสติกได้ 10.8 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 20.3 ตันคาร์บอนต่อปี
-ใช้ระบบIDA (Industrial Data Analytics) ลดพลังงานไฟฟ้าได้ 15% ต่อปี
แนวทางโรงงาน ไทยวาโก้ ในกรุงเทพฯ
-ตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% ภายในปี ค.ศ.2030
-ใช้หลักการ Reduce, Reuse และ Recycle ในกระบวนการทำงาน
-เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ คอตตอน เส้นใยไผ่
-โรงงานและอาคารสำนักงานต่าง ๆ ติดตั้งโซลาร์รูฟ
-พัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานคงทน คุ้มค่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง