ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญของภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ส่งผลให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทั่วโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กระทบในวงกว้าง ทั้งสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ วิกฤติน้ำแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ จึงมีความพยายามร่วมกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้น้อยกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของโลกที่ต้องร่วมมือกัน และเร่งลงมือทำ
อย่างไรก็ดี ล่าสุดประเทศไทยโดย TCMA จัดการประชุมสมาพันธ์ผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน ครั้งที่ 44 (AFCM: ASEAN Federation of Cement Manufacturers 44th Council Meeting) โดยที่ การประชุมดังกล่าว สมาชิก AFCM 7 ประเทศ ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมเเพื่อผสานความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในอาเซียนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุม AFCM ครั้งที่ 44 ดังกล่าว ความร่วมมืออาเซียนซีเมนต์มุ่งสู่การลดคาร์บอน” (ASEAN Cement Collaboration towards Decarbonization) ถูกกำหนดเป็นประเด็นหลักของการประชุม โดยหัวข้อประชุมหารือครอบคลุม ทิศทางของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในอาเซียน แนวโน้ม และความท้าทาย
รวมทั้งความร่วมมือด้านเทคนิคในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้วัสดุทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล/ ถ่านหิน การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม/คุ้มค่า ตามแนวทาง Circular Economy เป็นต้น
“ความร่วมมืออาเซียนซีเมนต์มุ่งสู่การลดคาร์บอน เป็นประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ ใช้เป็นกรอบแนวทางการหารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของอาเซียน ภายใต้บริบทนโยบาย แนวทาง และความพร้อมของแต่ละประเทศสมาชิก สามารถมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของผู้ผลิตอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในอาเซียน รวมถึงเป็นการผสานความร่วมมือระหว่าง AFCM ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในอาเซียน กับองค์กรสำคัญระดับโลกด้านปูนซีเมนต์และคอนกรีต และภาครัฐของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) พร้อมตอบโจทย์วิกฤติโลกเดือด
ดร. ชนะ กล่าวอีกว่า การจะบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนได้ เป็นการดำเนินงานที่ท้าทาย และทุกระดับต้องร่วมกันดำเนินงาน ทั้งนโยบาย มาตรการ กลไกดำเนินงาน และการลงมือทำ ในการประชุมครั้งนี้ จึงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง/ แนวทางขับเคลื่อน The Collaboration towards Decarbonization มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือจากผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำในแต่ประเทศสมาชิก AFCM กับองค์กรต่างๆ เพื่อส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมในระยะยาวได้ โดยสมาชิก AFCM จะมีส่วนร่วมดำเนินการที่สำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของแต่ละประเทศที่กำหนดไว้
"TCMA ปักธงชัดเจนในการขับเคลื่อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ Thailand 2050 Net Zero Cement & Concrete Roadmap ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยเชื่อมโยงไปกับโมเดลระดับโลกแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนในซีเมนต์และคอนกรีตเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593"
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานตามโรดแมปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยสู่ Net Zero ในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า นับเป็นบทบาทสำคัญของไทยในการขับเคลื่อน Decarbonization ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียนให้ไปทิศทางเดียวกัน การทำงานเชิงกลยุทธ์ ผ่านการกระชับและเสริมสร้างความร่วมมือ รวมถึงเข้าใจกลไกการทำงาน
และเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาชีพ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลาง และในระดับพื้นที่/ จังหวัด รวมถึงระดับภูมิภาค เช่น AFCM และระดับโลก เช่น GCCA ด้วยแนวทาง Public-Private-People Partnership (PPP) นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายตามโรดแมป และจะช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศตามมา รวมถึงดึงดูดอุตสาหกรรม Smart & Sustainability
ข่าวที่เกี่ยวข้อง