เป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว ใกล้เคียงกับการขอรับการขอรับการส่งเสริมในปี 2565 ที่มียอดขอรับการส่งเสริม 2,119 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท) เข้าโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ของปีนี้ สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา และทิศทางการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ดังรายละเอียด
นายนฤตม์ กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในไทย ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2566) ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน
การขอรับการส่งเสริมการลงทุน 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (184,961 ล้านบาท) รองลงมา คือ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร (55,959 ล้านบาท) และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (37,406 ล้านบาท)
ขณะที่ในจำนวนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนข้างต้น เป็นคำขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (FDI) 801 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73 ถือเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากปีที่ผ่านมา
“ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 90,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.7 เท่า จาก 228 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 สิงคโปร์ เงินลงทุน 76,437 ล้านบาท จาก 114 โครงการ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และแผ่นวงจรพิมพ์ และอันดับ 3 ญี่ปุ่น เงินลงทุน 40,554 ล้านบาท จาก 156 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แม้ในปีนี้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นจะสูงเป็นอันดับ 3 แต่ตัวเลขสูงกว่าปีที่แล้วกว่าร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังคงขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนสะสมในไทยสูงที่สุดด้วย”
สำหรับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าทิศทางการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ จะยังคงมีโมเมนตัมการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เซมิคอนดัคเตอร์ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ผู้ประกอบการได้มีการพูดคุยกับบีโอไอ และได้เดินทางเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงคาดตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2566 จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6 แสนล้านบาท
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งลงทุนที่โดดเด่นและมีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน มีปัจจัยสนับสนุนที่พร้อมรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมีภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ไทยยังมีความพร้อมในหลายด้านที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในระยะยาว เช่น ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไทยมีความเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคอาเซียน และมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ทำให้ฐานการผลิตในไทยสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน และกำลังเติบโตสูง รวมทั้งตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกได้ มีแรงงานที่มีคุณภาพดี และมีขีดความสามารถที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ
นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูง ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะแหล่งพลังงานสะอาด การคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ราง อากาศ และทางเรือ มีความพร้อมของท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และนิคมอุตสาหกรรม
ลุยอุตฯสร้างเศรษฐกิจใหม่
ขณะที่คณะกรรมการ หรือบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (ปี 2567 – 2570) โดยให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะเป็น Game Changer ช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่
อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ จะมุ่งขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐาน การผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2.การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี 3.การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง 4.การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ และ 5.การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน
“บีโอไอจะทยอยออกมาตรการใหม่ ๆ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และตอบโจทย์ 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และทักษะของคนไทยให้สูงขึ้นได้ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง