energy

เอกชนจี้ปรับโครงสร้างหน้าโรงกลั่น-ค่าการตลาดลดราคาระยะยาว

    เอกชนจี้ปรับโครงสร้างหน้าโรงกลั่น-ค่าการตลาดลดราคาระยะยาว ชี้ลดเบนซินแก๊สโซออล์ 91 เป็นแนวทางที่ดี แนะทำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางด้วยเป็นขั้นสอง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร ว่า ถือเป็นแนวทางที่ดีเพราะช่วยประชาชนผู้ใช้เบนซินในภาพรวม หลังจากลดราคาดีเซลแล้ว 

แต่ก็ต้องดูว่าสุดท้ายจะใช้เครื่องมือใดระหว่างภาษีสรรพสามิตหรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หากเป็นภาษีอาจทำได้ระยะสั้นเพราะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ 

ขณะที่เครื่องมือกองทุนน้ำมันฯก็ทำได้ยากเพราะปัจจุบันติดลบค่อนข้างมากจากการอุดหนุนดีเซลและก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) โดยจะเห็นว่าทั้งสองแนวทางไม่ใช่การลดราคาที่มาจากการปรับโครงสร้างน้ำมัน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาการปรับโครงสร้างควบคู่กันไปและกำหนดเวลาทำงานที่ชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อไหร่

"ต้องการให้รัฐบาลรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่นที่ใช้ราคาอ้างอิงราคาสำเร็จรูปสิงคโปร์ได้แต่ไม่ควรรวมค่าขนส่ง เพราะไทยนำน้ำมันดิบมากลั่นเอง และต้องการให้ดูค่าการตลาดที่เหมาะสม"นายอิศเรศกล่าว

นอกจากการช่วยเหลือประชาชนในภาพรวมแล้ว ต้องการให้ทำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางด้วยเป็นขั้นสอง เพื่อให้กลุ่มนี้ดำรงชีพในภาวะต้นทุนค่าครองชีพสูงได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ติดลบ 70,230 ล้านบาท จากบัญชีน้ำมันติดลบ 25,121 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 45,109 ล้านบาท 

มีเงินไหลเข้าจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 141.22 ล้านบาทต่อวัน แต่มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจี 364.66 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้ภาพรวมเงินไหลออกจากกองทุนฯ 223.44 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็น 6,703 ล้านบาทต่อเดือน