ฝุ่น PM 2.5 จากหมอกควันข้ามแดน เมื่อ “โลกร้อน” ทำให้เกิดไฟบนพื้นที่ป่าพรุ

18 ต.ค. 2566 | 12:05 น.

การกลับมาของ ฝุ่น PM 2.5 สร้างปัญหาให้กับผู้คน โดยเฉพาะจากหมอกควันข้ามแดน เมื่อ “โลกร้อน” ทำให้เกิดไฟบนพื้นที่ป่าพรุ

ช่วงปลายฤดูฝนเข้าฤดูหนาว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มักกลับมาสร้างปัญหาด้านสุขภาพให้กับผู้คน ล่าสุด 18 ตุลาคม 2566 "ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ" รายงานคุณภาพอากาศ "ฝุ่น PM 2.5" ในประเทศ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะพื้นที่ กทม. พบเกินค่ามาตรฐาน 37 พื้นที่ แนะนำให้ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง

ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม คาดว่าจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนจน-มกราคม 2567 มีการคาดการณ์ว่าผู้คนที่อาศัยในกรุงเทพฯและพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยจะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยและเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ นั่นหมายถึง โอกาสที่จะเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่งจากภาคการเกษตรจะเพิ่มมากขึ้น 

ปรากฎการณ์เอลนีโญ สร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างรุนแรง ตลอดจนสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และการดำรงชีวิต เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปีอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น หลายประเทศมีอุณหภูมิสูงทุบสถิติ แม้แต่น้ำทะเลก็มีอุณภูมิสูงขึ้นด้วย ความกลัวต่อมาก็คือ สถานการณ์ PM 2.5 หรือ หมอกควันตามฤดูกาลจะเลวร้ายลง จากภาวะโลกร้อน ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้พื้นที่ป่าพรุเเละป่าไม้ติดไฟได้มากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของพื้นที่ป่าพรุประมาณ 40% ของโลก ตามข้อมูลของ UNEP พื้นที่ป่าพรุครอบคลุมเพียง 3 % ของพื้นผิวโลก แต่มีคาร์บอนอยู่เกือบ 550 พันล้านตัน สภาพน้ำขังในพื้นที่ป่าพรุทำให้สารอินทรีย์ไม่เน่าเปื่อย ทำให้กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ทรงพลัง เมื่อระบายออกเพื่อเตรียมการเพาะปลูกหรือกิจกรรมการพัฒนาอื่นๆ สารอินทรีย์จะสัมผัสกับอากาศ เกิดการย่อยสลายเริ่มต้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อถูกไฟไหม้ กระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นเเละจะยิ่งเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

สิ่งนี้ยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรบกวนภูมิภาคนี้ในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ นำไปสู่ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ปัญหาสุขภาพ การเสียชีวิต และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แม้จะมีข้อตกลงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายชุด รวมถึงการยืนยันความมุ่งมั่นต่อท้องฟ้าที่ปราศจากหมอกควันภายในปี 2573 แต่หมอกควันก็กลับมาในปีนี้

ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของอาเซียน ทั้งยังมีการปฎิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่บั่นทอนการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 

แม้ว่าคุณภาพอากาศจะลดลงสู่ระดับอันตรายในพื้นที่บางส่วนของคาบสมุทรมาเลเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อินโดนีเซียก็ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของมาเลเซียอย่างชัดเจนว่าลมพัดพาหมอกควันอันตรายจากจุดร้อนในสุมาตราและกาลิมันตันไปยังเพื่อนบ้าน 

มาเลเซียมีเหตุการณ์เกี่ยวกับหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2558 และ 2562 โดยในปี 2558 เป็นครั้งสุดท้ายที่เอลนีโญทำให้ผลกระทบจากฤดูแล้งแย่ลง โดยอินโดนีเซียเผาป่าไป 2.7 ล้านเฮกตาร์ หมอกควันในปีนั้นไม่เพียงปกคลุม บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ยังครอบคลุมภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์ตอนใต้ในเดือนกันยายนและตุลาคม การปิดโรงเรียนมีผลกระทบในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักเรียนเกือบ 4 ล้านคนในมาเลเซียเพียงประเทศเดียว

แม้ว่าพื้นที่ป่าไม้ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งถูกเผาไหม้ในอินโดนีเซียในปี 2562 มีพื้นที่ 1.6 ล้านเฮกตาร์ธนาคารโลก ประเมินว่าไฟป่าพรุในสุมาตราและกาลิมันตันน่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่าอย่างน้อย 5.2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปีนั้น  

การกลับมาของเอลนีโญในปีนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับไฟป่าที่เลวร้ายลงในช่วงฤดูแล้งนี้ เนื่องจากจุดที่เกิดไฟมีแนวโน้มสูงสุดในเดือนกันยายนและตุลาคม ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียนในสิงคโปร์ ยกระดับการแจ้งเตือนหมอกควันข้ามพรมแดนระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 สำหรับกาลิมันตันในเดือนกรกฎาคมและสุมาตราในเดือนกันยายน

หมอกควันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่าพรุขนาดใหญ่ในสุมาตราและบอร์เนียว พื้นที่พรุที่แห้งแล้ง ระบายน้ำและแผ้วถางสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันและสวนเยื่อกระดาษเป็นหลัก ทำให้พื้นที่เหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย 

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นสินค้าเกษตรหลักที่พบในประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อทั้งหมดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ประเทศผลิตน้ำมันปาล์มมากกว่า 30 ล้านตันต่อปี สร้าง 4.5% ของ GDP และให้การจ้างงานแก่ผู้คน 3 ล้านคน การแก้ไขปัญหาต้นตอของไฟป่าพรุในอินโดนีเซียอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่สิงคโปร์ได้ตรา พระราชบัญญัติมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน ในปี 2557 เป็นความผิดสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดมลพิษจากหมอกควัน ส่วนมาเลเซียยังคงวางแผนการออกกฎหมายที่คล้ายกัน

เรียกร้องพัฒนากฎหมายระดับภูมิภาค บริษัทต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อไฟป่าในประเทศ

เครือข่ายรณรงค์ระดับโลกกรีนพีซ เรียกร้องให้มีการพัฒนากรอบกฎหมายระดับภูมิภาคที่ให้บริษัทต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อไฟป่าในประเทศ เนื่องจากการแผ้วถางพื้นที่ป่าพรุและการเผาไหม้เศษวัสดุทางการเกษตร 

เเต่สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ "ตลาด" ควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน นั่นทำให้ปัจจุบัน มีบริษัทผู้บริโภคระดับโลกขนาดใหญ่หลายแห่งที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามุ่งมั่นที่จะใช้น้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองโดยองค์กรต่างๆ เช่น Roundtable on Sustainable Palm Oil แต่ก็มีบางรายไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภคหรือยังคงไม่ทำอะไร  

ล่าสุด ด้วยความช่วยเหลือของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ อินโดนีเซีย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (ตัวย่อภาษาอินโดนีเซีย : FoKSBI ) เป็นพื้นที่กลาง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมารวมตัวกันและจัดการกับความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนในอินโดนีเซีย

ที่มาข้อมูล