กรมอนามัย ผนึก พันธมิตร วิจัยระบบแจ้งเตือนอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 

12 ต.ค. 2566 | 18:45 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 18:45 น.

กรมอนามัย ชวนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมวิจัยโครงการพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพของประชาชนจากความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) นำร่องพื้นที่ กทม. เพื่อพัฒนาระบบพยากรณ์เตือนล่วงหน้า 

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของเราทุกวัน ล่าสุด นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินโครงการวิจัยภายใต้หัวข้อ "โครงการพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพของประชาชนจากความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร" กับศูนย์ความร่วมมือด้านอากาศสะอาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

รวมทั้งหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการที่จำเป็นจะช่วยให้การพยากรณ์ด้านคุณภาพอากาศ มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นและผลกระทบด้านสุขภาพมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ส่งเสริมให้เพิ่มศักยภาพในการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหามลพิษอากาศด้านฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคีเครือข่าย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถวางแผนแนวทางการรับมือและบริหารสถานการณ์ด้านสาธารณสุข

รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างทันท่วงที และประชาชนสามารถเตรียมการรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตนเองและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นการสร้างแนวทางในการป้องกันเชิงรุกและปกป้องสุขภาพอนามัย เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป