สงครามและกองทัพ ตัวเร่งทำโลกร้อน-ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

12 ต.ค. 2566 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 15:25 น.
668

การทำสงครามระหว่างประเทศและวิธีปฎิบัติของกองทัพ ถูกระบุว่าเป็นอีกตัวเร่งทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

กลุ่มฮามาสโจมตีอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 อิสราเอลกำลังถล่มฉนวนกาซาเพื่อตอบโต้ด้วย การโจมตีทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อาคารพังทลาย โครงสร้างพื้นฐานพังทลาย ถนนกลายเป็นทุ่งเศษหิน วิกฤตินี้สะเทือนไปทั่วโลก แต่นอกเหนือจากความทุกข์ทรมานและความตายของเพื่อนมนุษย์ที่เกิดจากการโจมตีทางทหารในระหว่างสงคราม "สิ่งแวดล้อม" ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมทั้งวิธีปฎิบัติของ "กองทัพ" ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ "โลกร้อน" เเละถึงแม้สงครามยุติลง เเต่มนุษย์ก็จะยังได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกนาน

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมจาก สงครามรัสเชีย-ยูเครน การบุกของรัสเซียได้ทำลายธรรมชาติของยูเครน ในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าที่ถูกเผา อุทยานแห่งชาติถูกทำลาย ส่วนที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ถูกทำลายก็ก่อให้เกิดมลพิษมหาศาล ส่วนมูลค่าความเสียหายจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากสงครามขณะนี้อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านยูโร ตามรายงานของ กรีนพีซ ยุโรปกลางและตะวันออก 

ขณะที่การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่ถูกทำลายในช่วงสงครามอาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก 79 ล้านตัน 

กองทัพมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อพูดถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก กองทัพโลกมักถูกมองข้ามไป ประมาณ 5.5% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

การศึกษาในปี 2019 โดยมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์และมหาวิทยาลัยเดอแรม พบว่า กองทัพสหรัฐ คือ หนึ่งในผู้ก่อมลพิษทางสภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยกองทัพสหรัฐใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหลวมากขึ้นและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ามากกว่าที่ประเทศส่วนใหญ่ทั้งโลกปล่อย

ขณะที่ข้อมูลจาก Scientists for Global Responsibility (SGR) ระบุว่า กองทัพของสหราชอาณาจักรในปี 2018 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ10 ล้านเมตริกตัน กองทัพของสหภาพยุโรปในปี 2019 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 23 ล้านเมตริกตัน 

ซึ่งส่วนใหญ่มาจากซัพพลายเชนอุปกรณ์ทางทหาร (รวมถึงการขุดหาวัสดุ การผลิต การใช้ และการกำจัด) อุปกรณ์มีตั้งแต่ปืน รถถัง ไปจนถึงเครื่องบิน

สิ่งแวดล้อมได้รับการปกป้องจากกฎแห่งสงคราม

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือเรียกกันว่า "กฎหมายสงคราม" ถูกนำมาปรับใช้ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ กฎหมายที่ว่าประกอบด้วยสนธิสัญญาต่างๆ (ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติมซึ่งถือเป็นข้อตกลงหลัก) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศห้ามมิให้ใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอาวุธ ซึ่งหมายความว่าห้ามการโจมตีโดยเจตนาต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการใช้เทคนิคการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเพื่อทำให้สมดุลทางนิเวศน์ของภูมิภาคเสียหาย

เช่น เมื่อแหล่งน้ำมันถูกไฟไหม้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายล้านตันจะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ และปศุสัตว์และสัตว์อื่นๆ จะถูกฆ่า สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากอาจถูกบังคับให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ต้องใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสียหายโดยบังเอิญต่อสิ่งแวดล้อม และแม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการปฏิบัติการทางทหารในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่คู่ขัดแย้งจะลดมาตรการป้องกันเหล่านี้

ในทางกลับกัน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การคุ้มครองโดยเฉพาะต่อทรัพยากรทางธรรมชาติในบางสถานการณ์ซึ่งรวมถึงการพิจารณาปกป้องและรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วยการเลือกวิธีทำสงครามอย่างเหมาะสม ห้ามไม่ให้มีปฏิบัติการทางการทหารที่จงใจหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง รุนแรง และในระยะยาวต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

ที่มาข้อมูล