อย่าวางใจ สงคราม ฮามาส-อิสราเอล

11 ต.ค. 2566 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 15:00 น.

อย่าวางใจ สงคราม ฮามาส-อิสราเอล คอลัมน์ ฐานโซไซตี โดย กาแฟขม

คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3,930 ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2566 โดย...กาแฟขม

...SvS...ประดาบก็เลือดเดือด เมื่อกลุ่มฮามาส นักรบหลายกลุ่มผสมโรงโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ด้วยจรวดนับพันลูก ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย อิสราเอลก็ประกาศสงครามตอบโต้ พื้นที่นี้ขัดแย้งมายาวนาน และมีการปะทะกันเป็นระยะๆ ไม่รุนแรง บางครั้งเป็นสงครามสั้นๆ 6-7 วันก็จบ แต่ครั้งนี้เหมือนจะเป็นรอบใหญ่ ดูท่าจะยืดเยื้อหลังอิสราเอลประกาศแก้แค้นตอบโต้ อันนี้จะไปถึงผู้ที่คอยสนับสนุนข้างหลังของทั้ง 2 ฝ่าย แน่นอนสหรัฐลากยุโรปหนุนอิสราเอล กลุ่มอาหรับหลายชาติอย่าง อิหร่านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐก็ต้องหนุน ฮามาส ปาเลสไตน์ สันติภาพ สันติสุข คงลืมเลือนกันไประยะหนึ่งในย่านนี้

...SvS... รายงานอย่างไม่เป็นทางการแรงงานไทยเข้าไปอยู่ในอิสราเอล 3 หมื่นคน ส่วนใหญ่แรงงานในภาคเกษตร ได้รับการสูญเสียจากสงครามครั้งนี้ ณ วันที่ 9 ต.ค. เสียชีวิต 12 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน มีคนขอกลับประเทศหนีภัยสงคราม 1,099 คน ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ขอส่งกำลังใจกับครอบครัวผู้ที่ตกเป็นตัวประกันขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย ต้องเห็นใจกับผู้ที่ไปตกระกำลำบากในต่างถิ่นต่างแดน ใครที่ไม่ตกอยู่ในชะตากรรมอาจไม่รู้ แต่ขอให้พึงรู้เถิดว่ามันยากลำบากจริงๆ ในการผ่านวันเวลาแต่ละนาที ชั่วโมง วัน ฉะนั้นทางการไทยต้องเร่งมือในการประสานทุกฝ่าย เพื่อนำคนไทยที่ต้องการกลับบ้าน กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

 

 

...SvS... แต่พอเบาใจได้บ้างเมื่อสถานทูตไทยในตะวันออกกลาง เกือบทุกประเทศที่ตั้งอยู่ มีแผนเผชิญเหตุ แผน 1-2-3 เตรียมการเป็นอย่างดี เคยได้พบปะพูดคุยกับนักการทูตบางท่านในตะวันออกกลาง ที่อพยพคนข้ามประเทศในอดีต ตอนสงครามอิรัก-คูเวต มีแผนการชัดเจน เข้าจุดไหน ออกจุดไหน เดินทางผ่านแดนแต่ละประเทศอย่างไร ส่วนใหญ่ทางบกถนนผ่านทะเลทรายยาวๆ ก่อนข้ามพรมแดนแต่ละประเทศ ก็ต้องมีความชัดเจนพักคนจุดไหน รับคนจุดไหน เครื่องบินลงได้ที่ไหน อันนี้ทางสถานทูตในอาหรับต้องประสานข้อมูลกัน เพื่อความปลอดภัยของคนไทย เข้าใจว่าในทางการทูตเขามีแผนชัดเจนและคำพูดคำจาภาษาการทูตที่ช่ำชองชำนาญ

...SvS... แต่ที่ปากไวไปหน่อย เป็น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เร่งรีบออกมาประณามกลุ่มฮามาส เนื้อหาประมาณขอประณามการโจมตีอิสราเอล การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล เหตุการณ์นี้ไม่สมควรเกิดขึ้น และผมขอร่วมกับประชาคมโลกประณามการกระทำดังกล่าว ...เป็นคำพูดที่ผ่านสื่อโซเชียลออกมาแบบไม่ค่อยยั้ง จนกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ถือว่ามีสติและความนิ่ง ต้องออกมาบอกว่าเป็นการประณามความรุนแรง ไม่ได้ประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุ

 

...ต้องไม่ลืมสถานะตัวเองเป็นนายกฯ พูดหรืออะไรออกมาเป็นท่าทีของรัฐบาลไทย ที่เอาตัวเองไปพันพันกับความขัดแย้งในภูมิภาคที่ค่อนข้างเปราะบาง เหมือนอย่างที่บอกโลกอาหรับที่เป็นไม้เบื่อไม้เมายาวนานกับอิสราเอล เขาจะมองเป็นท่าทีของรัฐบาลไทย วิธีคิด วิธีมองไทยเขาก็อาจปรับเปลี่ยนไป มิตรที่เคยมีก็อาจเสียไป ฉะนั้นคิดและทำให้มาก พูดให้น้อยลง หรือรับรายงานให้ชัดก่อนแสดงท่าทีก็ไม่สาย ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเกินไปในบางเรื่อง

...SvS... เหตุการณ์สงครามอิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเพราะใส่กันไม่ยั้ง ขนอาวุธหนักมาประเคนเข้าหากันแล้ว แม้เบื้องต้นจำกัดวง 2 ฝ่ายไม่ขยายลุกลาม แต่ได้เริ่มส่งผลกระทบแน่นอน ราคานํ้ามันพุ่งขึ้นทันที และหากยืดเยื้อยาวนานก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ เงินเฟ้อโลก ให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น อันนี้ต้องกลับมาคิดทบทวน วางแผนรับมือสถานการณ์กันให้ดีๆ แน่นอนฝ่ายจัดหานํ้ามันก็บอกว่าไม่มีปัญหา ไม่ขาดแคลนแน่นอน สามารถพึ่งพาพลังงานจากแหล่งอื่นได้ และแน่นอนอีกเช่นกันหากสงครมยิดเยื้อ ก็ใช่ว่าจะได้นํ้ามันราคาถูก ซึ่งที่ผ่านมาขนาดแค่สงครามยูเครน-รัสเซีย นํ้ามันขึ้นไปเฉลี่ย 80-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็โอดโอยกันถ้วนหน้า ใช้เงินกองทุนจนกลับเป็นติดลบหาโปะกันไม่ทันอยู่แล้ว และผลกระทบที่ตามมาแน่นอนเรื่องของการส่งออก ถ้ายืดเยื้อ (ไม่ต้องการเห็น) ก็พังพาบ แม้จะบอกว่าตลาดตะวันออกกลาง ส่งไปเล็กน้อยสัดส่วนไม่เท่าไร แต่ปัจจุบันนี้ ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งชะลอออเดอร์ มันก็ตามกระทบเป็นลูกโซ่อยู่แล้ว ก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์จะสงบโดยเร็ว