ทริสเรทติ้ง รายงานไว้ว่า ในปี พ.ศ.2566 กลุ่มมิตรผลจะมีรายได้อยู่ที่ระดับ 1.36 แสนล้านบาท และ 1.2-1.25 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2567-2568 โดยมี EBITDA Margin จะอยู่ที่ 16% ในปี 2566 และ 13%-15% ในปี 2567-2568 ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.8-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ระหว่างปีพ.ศ. 2566-2568 ซึ่งการเติบโตที่มั่นคงของกลุ่มมิตรผล แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารธุรกิจ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนเป็นแกนหลัก
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจอยู่ในภาคเกษตร ที่มีเกษตรกรซึ่งเป็นคอนแท็กฟาร์มมิ่งอยู่กว่า 2 ล้านไร่ และด้วยความตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มมิตรผลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาผนวก
ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผล ได้ตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) ครอบคลุุมการดำเนินงานของกลุ่มมิตรผลและบริษัทย่อยภายในประเทศไทย ผ่านการดำเนินงาน 6 แนวทาง ได้แก่ 1. เป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนรายใหญ่ของประเทศไทย และใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต 2. พัฒนาธุรกิจต่อยอดอ้อยและนํ้าตาล สู่ธุรกิจ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG Model) 3. ปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง 4. ส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน 5. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และ 6. ชดเชย กักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมากลุ่มมิตรผล ได้มีโครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานต่าง ๆ 47 โครงการ โดยปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37,952 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 336 ล้านบาท อีกทั้งมีการดึงคาร์บอนฯ จากหม้อไอนํ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล มาใช้ในกระบวนการผลิต นํ้าตาลรีไฟน์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายอิสระ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยจำนวน 11 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 560 เมกะวัตต์ ในปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าชีวมวล ได้ประมาณ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อีกทั้ง ได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบลอยนํ้า (โซลาร์ฟาร์มลอยนํ้า) ตามโรงไฟฟ้าต่างๆ ไปแล้ว 4 โครงการ รวมกำลังผลิตราว 11,697 กิโลวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 8,150 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี รวมทั้ง ได้ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้าเพิ่มเติมอีกในบ่อนํ้าของกลุ่มมิตรผล 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 16,000 กิโลวัตต์ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมได้กว่า 11,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่จัดทำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ปัจจุบันได้รับการรับรองจำนวน 7 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองรวมประมาณ 8 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังมีใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ปริมาณเฉลี่ย 1.3 ล้าน REC ต่อปี จากผลรวมการขายไฟฟ้าตามสัญญา PPA รวม 210 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ.2565
รวมทั้งมีเป้าหมายปลูกต้นไม้จำนวน 4 ล้านต้น ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565- 2575) โดยแบ่งสัดส่วนเป็นการปลูกป่าร่วมกับหน่วยงานภายนอกองค์กร 85% และปลูกป่าในพื้นที่ของกลุ่มมิตรผล เกษตรกร และชุมชน 15% ภายใต้งบประมาณดำเนินโครงการทั้งหมด 100 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรและชุมชนจากระบบการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าไม้
“การขายคาร์บอนเครดิต จะช่วยมีรายได้มาช่วยเสริมธุรกิจ เพราะรายได้จากนํ้าตาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ อนาคตเมื่อเรามีคาร์บออนไดออกไซด์ ก็จะนำมาขายอีก”
นายอิสระ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากเป้าหมายประเทศที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ.2050 จะเป็น Carbon Neutrality และในปี ค.ศ.2065 จะเป็น Net Zero จะมานั่งรอการดำเนินงานจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความมุ่งมั่น (commitment) ของผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องเข้าใจและใส่ใจเรื่องเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง