นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวใจความสำคัญว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารในท็อป 13 ถึง 15 ของโลก ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินค้าที่ยังส่งออกได้ดี คือสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และอีกกลุ่มสินค้าที่ยังเติบโตคืออาหารสำหรับผู้บริโภคที่ซื้อกลับไปบริโภค หรือปรุงรับประทานที่บ้าน ส่วนสินค้าอาหาร และวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเพื่อป้อนให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมชะลอตัว จากคนงด / ลด การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งหลังโควิดคลี่คลาย การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว อาหารสำหรับป้อนลูกค้ากลุ่มหลังเริ่มปรับตัวดีขึ้น
สำหรับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของโลก เวลานี้ผู้บริโภคเน้นเรื่อง Wellness (สุขภาพ)ที่มีความสมดุลทั้งในเรื่องร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่แค่ทานให้อิ่มหรือครบ 5 หมู่ แต่ทานแล้วอาหารต้องย่อยง่าย นอนหลับสบาย และขับถ่ายดี ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Functional Food
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Protein Choices ที่เป็นเทรนด์ของโลก และเป็นผลจากเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมเริ่มมองและเริ่มคิดว่าก่อนที่จะซื้อสินค้าอาหาร อยากรู้แหล่งที่มาว่ามาอย่างไร ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ทั้งนี้เรื่องของ Protein Choices ที่ปัจจุบันทั่วโลกมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่ไม่ใช่โปรตีนจากปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะหากพึ่งโปรตีนจากปศุสัตว์อย่างเดียว อนาคตจะไม่เพียงพอให้ผู้คนทั้งโลกบริโภคแน่นอน เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนาน ขณะที่โปรตีนจากพืชใช้เวลาในการปลูกและแปรรูปเป็นอาหารมนุษย์สั้นกว่า
ปัจจุบันมีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนทางเลือกต่าง ๆ มากมาย ที่มาแรงและตลาดเติบโตมากในช่วงโควิดคือ แพลนเบสต์ หรือโปรตีนจากพืช ที่แปรรูปเสมือนเนื้อหมู หรือเนื้อวัวเพื่อทดแทน หรือเป็นทางเลือกแทนเนื้อสัตว์จริง แต่เวลานี้แพลนเบสต์เริ่มชะลอตัวลงจาก 2 สาเหตุ
เรื่องแรก จากนวัตกรรมแพลนเบสต์ที่ยังไปไม่สุด เพราะหน้าตาและรสชาติยังเหมือนแค่เนื้อหมู หรือเนื้อวัว แต่ผู้บริโภคต้องการให้เหมือนกว่านี้ เช่น เหมือนเนื้อกุ้ง เนื้อปลาและมีรสชาติเหมือนที่เคยบริโภคที่ทำให้ให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ไม่ใช่ต้องมานับ 1 ในการบริโภคใหม่ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนา และใช้เงินทุนมากพอสมควร
สำหรับเทรนด์อาหารในปีหน้า ส่วนหนึ่งที่เป็นความท้าทายคือ อาหารสำหรับคนสูงวัย จากที่เวลานี้ประชากรสัดส่วนกว่า 20% ของไทยมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นตลาดสินค้าอาหารสำหรับคนสูงวัย ทานแล้วต้องย่อยง่าย ขับถ่ายง่าย รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นวัยใดทานแล้วต้องอร่อย เพราะหากไม่อร่อย ลองทานครั้งเดียวก็จะไม่ซื้อทานอีก
นายวิศิษฐ์ ยังกล่าวถึง ความท้าทายและโอกาสการค้าโลกว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง,ภาคบริการชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก,อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกลดลง, การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลต่อต้นทุนการภาคธุรกิจที่มีการกู้เงินมาลงทุน, ราคาวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น,ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงคราม และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปัจจุบันอยู่ในช่วงขาลง ตั้งแต่มีเรื่องโควิดเป็นต้นมามีหลายเรื่องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในช่วงโควิดรัฐบาลแต่ละประเทศก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้ประชาชนในประเทศของตัวเองอยู่รอด และในประเทศใหญ่ใครติดโควิดก็ไม่ต้องทำงาน อยู่บ้านมีเงินเดือนให้ตลอด เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุเงินเฟ้อ เพราะในจังหวะนั้นสินค้าต่าง ๆ ราคาขยับขึ้นไปมาก ขณะที่ย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ตอนนั้นค่าระวางเรือในบางสินค้า แพงกว่าค่าสินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ของแพง ผู้คนในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วยังจ่ายเงินให้ประชาชนโดยไม่ต้องทำงาน ซึ่งหมายถึงการนำเอาเงินอนาคตมาใช้ และส่งผลมาถึงทุกวันนี้”
ปัจจุบันนอกเหนือจากเรื่องข้างต้นแล้ว ยังมีวิกฤตอีกหลายเรื่อง (Polycrisis) ที่เป็นผลต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแต่ละประเทศมักแก้ปัญหาโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ มีผลกระทบเชิงลบกับภาคธุรกิจที่ทำให้มีต้นทุนหรือภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น และทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งการกู้เงินมาลงทุนใหม่ก็ไม่รู้ว่าสถาบันการเงินจะปล่อยกู้หรือไม่
เรื่องที่สอง ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังรับมือ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไปให้คำมั่นในการประชุม COP 26 ว่า ในปี ค.ศ. 2050 จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)ในปี 2065 ซึ่งประเทศที่ไปร่วมประชุมมักจะให้คำมั่นสัญญาคล้ายกัน แต่ระยะเวลาเพื่อสู่เป้าหมายอาจแตกต่างกัน อยู่ที่ความสามารถของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ประกาศจะใช้เวลาที่สั้นกว่าเป้าหมายดังกล่าว
“ปัจจุบันในการมุ่งสู่ Net Zero ประเทศส่วนใหญ่ได้มุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพราะการปล่อยคาร์บอนสัดส่วน 70% อยู่ในหมวดของพลังงาน ซึ่งในภาคการค้าเริ่มมีสัญญาณของการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าด้วย”
ยกตัวอย่างสหภาพยุโรปจะมีเรื่อง CBAM ที่จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2569) ในเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่สมาชิกขององค์การการค้าโลก(WTO) โดยหลายประเทศอาจจะยื่นคัดค้านหรือมีคำถามว่าวิธีนี้ใช้ได้หรือ? เพราะในภาพของ WTO ที่พยายามทำกันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาคือ ต้องการเปิดเสรีทางการค้า และลดปัญหาการใช้ภาษีมาเป็นตัวบล็อกการค้า โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีในกรอบต่าง ๆ แต่การที่จะมีการเก็บภาษีตัวใหม่ขึ้นมาคือ ภาษีคาร์บอน ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น และหลังจากนี้จะมีอีกหลายประเทศ ที่จะคิดมาตรการหรือวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้มากขึ้น
เรื่องที่ 3 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ของความขัดแย้งในโลก ที่เริ่มกระจายตัวจาก 2 ประเทศ เป็นหลายประเทศ ซึ่งหากไทยเดินถูกทางจะเป็นประโยชน์กับเรา ยกตัวอย่างช่วงที่เกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ไทยคบทั้งกับสหรัฐและจีน ทำให้สินค้าที่ทั้งสองประเทศทำสงครามการค้ากัน ในบางสินค้าที่ขาดไทยสามารถส่งออกไปทดแทนในทั้งสองตลาดได้
และเรื่องสุดท้ายของ Polycrisis ที่ยังเป็นชนวนอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งคือการแข่งขันในเรื่องดิจิตัล ที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนหรือแวลูเชนของเทคโนโลยีโลก ประเด็นคือไทยจะเข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างไร และยังมีอีกหลายหลายเรื่องที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยโดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันการส่งออกสินค้าตัวใหญ่ของไทยยังเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมีความท้าทายจากที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(รถอีวี) ที่ตอนนี้เบรกไม่อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นจังหวะในการปรับเปลี่ยน และเป็นความท้าทายการส่งออกรถยนต์ของไทยในอนาคตเช่นกัน เพราะการผลิตรถอีวี อุปกรณ์ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน จำนวนชิ้นจะหายไปเยอะ และจะไปเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการจำนวนมากที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน”
ขณะที่ในบางประเทศอาจมองข้ามรถอีวี โดยมองถึงพลังงานไฮโดรเจนแล้ว เพราะเห็นว่าในเรื่องรถอีวีอาจจะสู้ประเทศผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่างจีนไม่ไหว
นายวิศิษฐ์ ยังฝากโจทย์ถึงรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนความท้าทายของโลก เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องแรกคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ภายใต้ภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากมายในโลกนี้
เรื่องที่สอง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้า ที่คู่ค้าจะนำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นและมาตรการในเชิงการค้ามากขึ้น ทั้งนี้ขอให้เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)ใหม่ ๆ ในกรอบต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยที่จะได้ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ หรือในอัตราต่ำในประเทศคู่ค้า เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป(อียู)ที่กำลังเริ่มต้นการเจรจา หากบรรลุความตกลงคาดจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขยายการค้าไทย-อียู ที่เคยเป็นสัดส่วนการค้าไทยมากกว่า 10% และเวลานี้ลดลงเหลือ 7-8% ให้กลับไปอยู่ในระดับเดิม หรือมากกว่าได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง