"ลดค่าไฟ"วันนี้ กระทรวงพลังงานจ่อชง ครม.พิจารณา

13 ก.ย. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 10:05 น.
522

"ลดค่าไฟ"วันนี้ กระทรวงพลังงานจ่อชง ครม.พิจารณา พีระพันธุ์ระบุพยายามจะลดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  เชื่อตัวเลขที่จะออกมาประชาชนน่าจะพอใจ ยืนยันจะได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน

"ลดค่าไฟ" นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าทำทันทีหลังจากที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก

ล่าสุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยก่อนประชุม ครม.ถึงมาตรการลดราคาพลังงาน ว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอมาตรการลดราคาค่าไฟฟ้าให้ครม.พิจารณา 

ส่วนจะลดทีเดียวหรือลดเป็นขั้นบันไดนั้น พยายามจะลดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตัวเลขที่จะออกมาประชาชนน่าจะพอใจ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเลข จะเป็นเท่าไหร่ ขอให้รอที่ประชุมพิจารณาก่อน  

ขณะที่ระยะเวลาที่จะดำเนินการนั้น คงต้องให้ที่ประชุมครม.พิจารณา 

แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันนี้และได้ข้อสรุปแน่นอน

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟ พบว่า

การยืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) น่าจะเป็นแนวทางแรกที่รัฐบาลจะเลือกทำ โดยปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะต้องมีการชำระหนี้คืนให้ กฟผ.ในระยะเวลา 20 เดือน

ลดค่าไฟวันนี้ กระทรวงพลังงานจ่อชง ครม.พิจารณา

โดยสอดคล้องกับที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีการยืดการชำระหนี้ให้ กฟผ.ออกไปเพื่อลดค่าเอฟที ถือเป็น มาตรการที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมาดูว่า การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าอย่างถาวรจะต้องทำอย่างไร

ส่วนการแก้ปัญหาแหล่งพลังงานใหม่ระยะยาว คือ เดินหน้าในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย -กัมพูชา เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนับวันทรัพยากรจะต้อง ลดลงต่อเนื่อง โดยถ้ารัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการ สำเร็จจะถือเป็นการโชว์ฟอร์มที่ดี นำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า หากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมดพบว่าค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีจะอยู่ที่ระดับ 4.10 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ประกาศ 4.45 บาทต่อหน่วย

หากรัฐเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอคืนหนี้ 1.1 แสนล้านบาทออกไป จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ ลงมาอยู่ที่ 4.10-4.20 บาทต่อหน่วยได้ 

แต่หากชะลอหนี้ไม่ได้ รัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาอุดหนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท จะลดค่าไฟเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย 

อย่างไรก็ดี การลดค่าไฟหากไม่ทันบิลเรียกเก็บเดือนกันยายน อาจใช้วิธีให้ส่วนลดย้อนหลังเหมือนที่เคยทำในอดีต