"พิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม" รุกสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์

07 ก.ย. 2566 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 14:28 น.

"พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" รุกสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ มุ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะใมุ่งเน้นให้ทุกการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางระบบดูแล ควบคุม และกำจัดของเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน 

การใช้พลังงานทางเลือกสู่การเป็น อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ (Bio Circular Economy) ซึ่งจะได้หารือเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon Industry) ในลำดับต่อไป 

สำหรับนโยบายเร่งด่วน 3 เดือน ประกอบด้วย การกำชับให้หน่วยงานภายในกระทรวงเร่งหาแนวทางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ให้เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้วยการสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยการยกระดับทักษะแรงงานขั้นสูง สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 

รมว.อุตสาหกรรมรุกสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์

รวมถึงพิจารณาหามาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV)อย่างแพร่หลายภายในประเทศ มาตรการทางภาษี และการขยายจุดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับประชาชน

ขณะที่การส่งเสริมศักยภาพ และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแข่งขันนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมเข้าสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นแผนนโยบายในลำดับต่อไป 

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องที่ พร้อมการพัฒนาทักษะ อาชีพเสริม เพื่อการลดรายจ่ายในภาคครัวเรือน

การผนวกวิชาการอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชนให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนให้กับประชาชน และเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคต และการยกระดับการให้บริการคุณภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงของผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย One Stop Service ซึ่งจะได้ปรับแก้ข้อจำกัดที่มีอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น