นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อนำไปสู่การใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการนำองค์ความรู้ละทรัพย์สินเพื่อ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมีระยะทางกว่า 71 กิโลเมตร ให้บริการขนส่งมวลชน 54 สถานีทั่วกรุงเทพฯ
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น จะทำให้ไทยมีการใช้งานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเป็นสัญญาความร่วมมือ 25 ปี จะผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนระบบรถไฟใต้ดินในปริมาณถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 12% ของไฟฟ้าที่ประเมินว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงต้องใช้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี คาดว่างานออกแบบจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2567 และเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2567 ให้กับรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และทยอยส่งมอบจนเต็มระบบเดือนกุมภาพันธ์ 2568
"ความร่วมมือนี้มีศักยภาพจะช่วยผลักดันให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียน หากโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นจะหันมาดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะเดียวกัน เช่น ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเยอรมันเป็นผู้ใช้ พลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี"
อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะ 3 ปี ที่ซีเค พาวเวอร์ตั้งเป้าไว้ต้นปี 2565 จะขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัวปี 2567 พร้อมเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,800 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ คือ บริษัทมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 93% สูงสุดในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของไทย
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมุ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาดและมีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี 2608
"ความร่วมมือกับซีเค พาวเวอร์จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วย ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวพื้นที่จะใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า 6 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 106,000 ตารางเมตร"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง