กนอ.เล็งใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนพื้นที่“Smart Park–มาบตาพุด”

29 ส.ค. 2566 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2566 | 09:09 น.

กนอ.เล็งใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนพื้นที่“Smart Park–มาบตาพุด” เดินหน้าร่วมมือ 6 พันธมิตรฯ ธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น พร้อมหาลู่ทางตั้งบริษัทร่วมทุนในเครืออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมในพื้นที่ฯ ให้ผู้ให้บริการและผู้จัดหาพลังงานสะอาด

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการร่วมมือกับ 6 พันธมิตรองค์กรธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการสาธิตการจัดหา และใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park (สมาร์ท ปาร์ค) และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอดความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการสาธิตการจัดหาพลังงานไฮโดรเจนและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน เช่น การบริการรถโดยสารไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 

รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่นิคมฯ ดังกล่าว กับผู้ให้บริการและผู้จัดหาพลังงานสะอาด

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในการบรรลุสังคมคาร์บอนต่ำผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) 
 

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาร่วมกันในอนาคต ผ่านการสนับสนุนโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต

กนอ.เล็งใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนพื้นที่Smart Park–มาบตาพุด

นายวีริศ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าวต่อยอดจากบันทึกข้อตกลงเดิมเมื่อปี 2564 ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้การจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดประเภทต่างๆ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ รวมถึงการคมนาคมที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการฯ ในเฟสแรกที่ผ่านมานั้น มีการออกแบบภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหลักของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนทำให้เกิดความเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutral) แต่ยังสนับสนุนการพัฒนาโครงการต้นแบบ BCG ในประเทศไทย 

โดยออกแบบให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน และรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์คจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 73% ในปี 2578 เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้โครงข่ายสายส่งโดยเสรี ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์คยังต้องพิจารณาแผนเงื่อนไขการลงทุน หรือกรอบความร่วมมือต่อไป

"6 บริษัทไทย-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี), บริษัท ฮิตาชิโซเซน คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด"