energy

“หัวเว่ย” วาง 4 กลยุทธ์พลิกโฉมประเทศสู่พลังงานแห่งอนาคต

    หัวเว่ย ดันโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมตั้งเป้าขับเคลื่อนประเทศสู่ความทัดเทียมในการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า ด้วยแนวทาง Energy as a Service สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

ปัจจุบันนี้ โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ (Energy Disruption) ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ทั่วโลกต่างต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเร่งหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพเพียงพอในการทดแทนพลังงานฟอสซิล ที่กำลังจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ ยังเป็นไปเพื่อผลักดันให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแข็งแกร่งที่สุด

“หัวเว่ย” วาง 4 กลยุทธ์พลิกโฉมประเทศสู่พลังงานแห่งอนาคต

เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ไทยจึงจำเป็นต้องมีแนวทางการขับเคลื่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ทกริด” ที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่าในปัจจุบัน โดยในระดับมหภาค ประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกด้วย

โดยระบบโครงข่ายไฟฟ้าในปัจจุบันของประเทศไทยยังคงมีทิศทางการไหลของพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่เพียงทิศทางเดียว (เช่น การส่งพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า) โดยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเองยังมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบไฟฟ้าระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระดับต่ำ

ดังนั้นระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด จะกลายเป็นหมากสำคัญทางนวัตกรรมที่จะพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัด ประมวลผล ระบบอัตโนมัติและสื่อสารข้อมูล พร้อมทั้งควบคุมทิศทางการไหลของพลังงานไฟฟ้าและข้อมูลสารสนเทศให้สามารถไหลได้ทั้งสองทิศทาง และยังสามารถรองรับแหล่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป สามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมการใช้ไฟในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร. สุธี ไตรวิวัฒนา เจ้าหน้าที่กลยุทธ์กลุ่มธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบสมาร์ทกริดและดิจิทัลพาวเวอร์ของประเทศไทย ในงานสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทย ในยุคความท้าทายด้านพลังงาน (Energy Disruption)”ว่า 4 กลยุทธ์สำคัญที่จะพลิกโฉมประเทศสู่พลังงานแห่งอนาคต ซึ่งประกอบด้วย  1. การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงโครงสร้างด้านเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาบริหารจัดการระบบโครงข่ายอัจฉริยะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกภาคส่วน

“หัวเว่ย” วาง 4 กลยุทธ์พลิกโฉมประเทศสู่พลังงานแห่งอนาคต

2. การสร้างกลไกตลาดที่สมบูรณ์ และสมเหตุสมผล ทั้งด้านต้นทุน ราคา ต้องมีการจัดการให้เหมาะสมอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทั้งในแง่ราคาและการนำไปใช้งานกับธุรกิจประกอบการและภาคประชาชนอย่างแท้จริง

3. กฎระเบียบที่ส่งเสริมให้สมาร์ทกริดเกิดขึ้นได้จริง จากการผลักดันและสนับสนุนของภาครัฐและผู้ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะจากภาคเอกชน

4. การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริด ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

3 เสาหลักพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริด

ดร. สุธียังได้เปิดเผยถึงภารกิจสำคัญของหัวเว่ยในการมุ่งพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดว่า “หัวเว่ยเป็นผู้นำด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลในระดับโลก ซึ่งมีบริการและโซลูชันต่าง ๆ ที่ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในกว่า 170 ประเทศ ธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ในฐานะที่ประเทศไทยถือเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย หัวเว่ยจึงลงทุนเพิ่มเติมในด้านธุรกิจพลังงานดิจิทัล ให้บริการภาคธุรกิจ และภาคประชาชนด้วยโซลูชันต่าง ๆ  สำหรับการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยให้เกิดรากฐานที่แข็งแกร่ง จะต้องประกอบไปด้วยสามเสาหลักดังต่อไปนี้

1. การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบไฟฟ้าด้วยการปรับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ไฟฟ้า ทำให้ลดภาระการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาสูงสุด นำไปสู่การลดต้นทุนในการผลิตและสำรองไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา

2. ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast) จะต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ

3. การพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาระบบรวมไปถึงการพัฒนาระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และการบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า (EV Integration) เพื่อช่วยบรรเทาความต้องการใช้งานของระบบไฟฟ้าจากปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมากขึ้นในอนาคต

ดร. สุธียังได้กล่าวถึงเป้าหมายในการผลักดันโซลูชัน Energy as a Service ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า “เพื่อเดินหน้าสานต่อพันธกิจเติบโตพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)  หัวเว่ยได้ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของหัวเว่ย ที่เต็มไปด้วยขุมพลังจากเหล่าเทคโนโลยีล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันด้านระบบโซลาร์เซลล์และด้านโครงข่ายโทรคมนาคม

ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อของข้อมูล (Data) พัฒนาระบบสมาร์ทกริดของประเทศ และวางรากฐานด้านพลังงานดิจิทัลและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภาคธุรกิจได้อย่างยั่งยืน  ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้บริการธุรกิจพลังงานดิจิทัลกับลูกค้าระดับองค์กรธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในประเทศไทย โดยองค์กรธุรกิจจำนวนมาก ได้ไว้วางใจให้หัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ด้านพลังงานดิจิทัล ขยายศักยภาพของธุรกิจพลังงานดิจิทัล และช่วยสร้างงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่งในประเทศ”

ด้วยการรุกคืบในการขยายส่วนบริการธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย เขาเชื่อมั่นว่า หากประเทศไทยมีรากฐานโครงข่ายสมาร์ทกริดที่มั่นคง และสามารถยกระดับประเทศไปสู่การใช้โซลูชันในรูปแบบ Energy as a Service ในอนาคต ธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรมจะสามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า รวมทั้งไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องการซ่อมบำรุง การบริการต่าง ๆ หรือการดำเนินการ ทั้งยังมีความยืดหยุ่นด้านพลังงานและสามารถบริหารความเสี่ยงได้เราจะสามารถผลักดันประเทศให้ก้าวสู่ “ความทัดเทียมในการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า”  ส่งผลในเชิงบวกต่อทั้งภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงประชาชนที่จะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงสวัสดิการและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ