ในปีที่ผ่านมา (2565) เศรษฐกิจ ของ ประเทศโอมาน ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาดโลกในปีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 94 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้หนี้สาธารณะของโอมานลดลงจากเดิม 83% เหลือ 44% ของ GDP (17.7 พันล้านริยาล/ 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่ GDP ขยายตัว 4.7% และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ล่าสุด บริษัท Credit Rating S&P ได้ปรับอันดับเครดิตของโอมานอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเป็น BB (stable outlook) จาก BB-
กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจของโอมานยังคงมีความแข็งแกร่งจากภาคพลังงานปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) โดยในปี พ.ศ. 2565 โอมานสามารถผลิตน้ำมันและคอนเดนเสทได้เพิ่มขึ้นถึง 9.6% กำลังผลิตเฉลี่ย 1.06 ล้านบาร์เรล/วัน โดยการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 60% ของการส่งออกทั้งหมด จากการคาดการณ์เชื่อว่า ในอนาคตกำลังผลิตน้ำมันและคอนเดนเสทของโอมานจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 10% ไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 อีกทั้งภาคการผลิต/สำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 70%
แต่กระนั้นก็ตาม รัฐบาลโอมานได้ผลักดันให้การพัฒนา ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นพลังงานทางเลือก เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเช่นกันในปัจจุบัน โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA ประเมินว่า โอมานมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศที่เอื้อต่อการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และรัฐบาลโอมานก็ส่งเสริมการลงทุนทางด้านนี้ ซึ่งหากโอมานสามารถพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวให้บรรลุได้ตามเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 โอมานก็จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council (GCC)
ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนแบ่งการส่งออกจากตัวเลขการประเมินโครงการของแต่ละประเทศ คาดว่า ซาอุดีอาระเบียจะครองส่วนแบ่งตลาดที่ 16% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ 20% และโอมานสูงถึง 61% เนื่องจากการคาดการณ์ของ IEA ที่ประเมินอัตราราคาไฮโดรเจนสีเขียวที่โอมานผลิตได้ในช่วงปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของราคาประเมินในตลาดโลก 2 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม
นี่จึงเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับโอมาน
ทำความรู้จัก “ไฮโดนเจนสีเขียว” ให้มากขึ้น
ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต นับเป็นหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประชาคมโลกทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทชั้นนำจากทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างพากันออกมากำหนดพันธกิจของตัวเองในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
การส่งออกภาค non-oil และโลจิสติกส์
ในปี 2565 การส่งออกของภาค non-oil ของโอมานยังขยายตัวถึง 50.1% โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์เป็นสาขาที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทจัดอันดับ Fitch Rating ได้ทำการประเมินว่า ภาคการผลิตสินแร่ของโอกมานมีการขยายตัวมากถึง 172% ในขณะที่พลาสติกและเคมีภัณฑ์ มีอัตราการขยายตัวเท่ากันอยู่ที่ 42% นอกจากนี้ โอมานยังเป็นแหล่งวัตถุดิบแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น นิเกิล และลิเธียม อีกด้วย
ส่วนภาคโลจิสติกส์ โอมานตั้งเป้าเป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคและอนุภูมิภาคแอฟริกาเหนือโดยใช้ข้อได้เปรียบในการมีที่ตั้งอยู่นอกอ่าวฮอร์มุซ และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลโอมานได้ดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าทางตอนเหนือที่โซฮาร์ (Sohar) ท่าเรือแบบ dry dock ทางตอนกลางที่ดูคุม (Duqm) และท่าเรือขนส่ง containers ทางตอนใต้สุดที่ซาลาลาห์ (Salalah)
โอกาสสำหรับประเทศไทย
จากเศรษฐกิจโอมานที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกือบทุกด้านกลับสู่โหมดปกติ รวมถึงการได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับโอมานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากโอมานเป็นประเทศทางเลือกสำหรับการกระจายสินค้าในภูมิภาค หากประเทศไทยได้เปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า ทั้งท่าเรือโซฮาร์และท่าเรือซาลาลาห์กับทางโอมาน ก็จะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา ประเทศไทยและโอมานได้มีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ร่วมกันแล้ว ได้แก่
ทั้งนี้ ไทย-โอมานมีมูลค่าการค้า 94,484.94 ล้านบาท (2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็นไทยส่งออกไปยังโอมาน 16,132 ล้านบาท (468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และไทยนำเข้าจากโอมาน 80,352.32 ล้านบาท (2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังโอมาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และข้าว และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากโอมาน ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป
คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง